Techniques and Art of Negotiation
เทคนิคและศิลปในการเจรจาต่อรอง

.

Techniques and Art of Negotiation

กาแฟ ซาลาเปา ก็เอามาเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองได้เหมือนกัน

เทคนิคและศิลปในการเจรจาต่อรอง

อยากจบเฮ หรือจบเห่ เลือกเอา มันเรื่องของคุณ       |

 

อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ เขียน

LINE@ :  https://goo.gl/LpxiYk 
f Messenger :  
http://m.me/AJK.sciArtist/

 

คงไม่แปลกใจและอย่าได้แปลกใจไป เพราะปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับการเจรจาต่อรอง ไม่ก็ต่อรองแต่ไม่เจรจา (คือแอบเจรจาปริยายไปแล้ว) ก็อาจจะเป็นไปได้ บทความกาแฟ - ซาลาเปากับการเจรจาต่อรองในวันนี้ เกิดขึ้นจากการที่ผมมีนัดหมายพบปะและหารือ ให้คำปรึกษากับลูกค้า เลยได้ไอเดียจากการสังเกตและพูดคุยกันออกรส น่าสนใจไม่อยากให้เลยผ่านไป เดี๋ยวลืม จึงขอเอามาเล่าสู่ให้ท่านทั้งหลายได้ฟังกันในเวอร์ชั่น website นี้ จะเยอะและเต็มกว่า

ตอนเรา (ผมกับลูกค้า หรือผมกับคุณก็ได้นะ) มานั่งทานกาแฟกันที่ร้านสตาร์บัคส์ ผมเชื่อว่าคุณก็เคยมาใช้บริการที่นี่โดยปกติสตาร์บัคส์ มีเค้ก มีกาแฟ ชา เครื่องดื่มหลากหลาย มีอาหารฝรั่ง แซนวิชให้เราเลือกสรรมากมาย มีโต๊ะ และปลั๊กไฟให้เราได้เสียบอุปกรณ์ที่เราหิ้วมาใช้ในการทำงานหรือใช้ในการสื่อสารตามแต่ใจเราอยาก ให้เป็น เค้าไม่ว่าและเต็มใจให้มันเป็นไปแบบนั้นด้วย ผมว่ามันกลายเป็นวัฒนธรรมของการเสพกาแฟที่สตาร์บัคส์ไปซะแล้วของชาวกรุงหรือนอกกรุง ผมชอบนะ ร้านกาแฟอย่างนี้เหมือนบ้านก็ว่าได้ ไม่มีความกดดันอะไร ไม่เรื่องมากปล่อยให้ลูกค้าอิสระไหลลื่นดี จึงเป็นทั้งที่ทำงาน ที่กินดื่ม ที่พบปะสังสรรค์หรือจะใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกมากมาย ก็แล้วแต่เถอะ

ผมเอง เลือกกินกาแฟ ใช้สถานที่ ใช้ปลั๊กไฟ แต่ก็มีไม่บ่อยนัก ที่ผมจะเอาของที่ผมอยากกินมากิน วันนี้ ผมเลือกซาลาเปา ศรีภรรเตรียมให้มา 2 ลูก กำลังดีไม่อิ่มเกินจนทำให้พุงเป็นทุกข์ ทำให้คิดได้ว่าเหมือนกับเป็นการต่อรองกลายๆ จากการที่ผมมาใช้บริการ แต่ไม่ได้มีการเจรจาจริงๆ จังๆ อะไรกับทางร้านสตาร์บัคส์หรอก แค่จิตสัมผัสของผมมันบอกว่าเค้าโอเค  ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็เคยถามนะ ทางร้านก็ไม่ว่ากระไร ผมว่ามืออาชีพมากๆ แต่ก็อย่าถึงขั้นเอากะเพราไก่ไข่ดาวหรืออาหารกลิ่นระเบิดเข้ามากินเลย มันก็ออกจะเกินไป เกรงใจมั่งก็ได้ จะแล้วไงใครแคร์ ผมว่าไม่เหมาะ ซึ่งโดยหลักมารยาทเราก็ควรจะสั่งเครื่องดื่ม หรือใช้บริการอะไร จากทางร้านด้วยให้เกิน 50% ผมว่ามันดูไม่น่าเกลียดกับสายตาฅนไทยที่ชอบ (แอบ) มองหรือเผือกมายังเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ไม่งั้นน่าเกลียดตายชัก

แต่ในชีวิตจริง เราคงต่อรองในแบบที่ไม่เจรจานั้นอาจจะมีน้อย ส่วนใหญ่ก็จะต้องเจรจากันก่อน แล้วถึงจะต่อรองกัน ผมขอเล่าเทคนิคและศิลปะในการเจรจาต่อรองให้พวกคุณฟังหน่อย จากประสบการณ์นะไม่มีตำราหรอก จากที่ผมแสดงเองทำเรื่องเจรจาต่อรองด้านแรงงานสัมพันธ์มา 20 กว่าปีแล้ว แต่จะเป็นไปในแนวๆ ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เรื่องของนายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างกับสหภาพแรงงานนะ และคุณลองเอาไปปรับใช้ดูซิ ผมว่ามันใช้ได้เลย

ผมว่าชีวิตของเราๆ ท่านๆ ทุกวันนี้เต็มไปด้วยการเจรจาต่อรองนะ อย่างน้อยผมเชื่อว่าเรื่องของการต่อรองมันต้องมีเข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณทุกวันซิหน่า ในสถานประกอบกิจการก็เหมือนกัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เผชิญกันอยู่ แนวๆ ผัวเมียระเหี่ยใจ มันไม่ใช่เป็นปัญหาภายในสถานประกอบกิจการและสร้างปัญหาแค่ในสถานประกอบกิจการเท่านั้นหรอกนะ บางครั้งความขัดแย้งถ้ามากไปก็ส่งผลกระทบบานปลายเลยเถิดยืดเยื้อ ไม่ก่อให้เกิดสันติสุข เผลอๆ offside หนัก ออกนอกสถานประกอบการ กระทบกระเทือนผู้คนสัญจรไปมา ลูกค้า ประชาชนที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีกตั้งมากมาย เคยเห็นมั๊ยสไตรค์ปิดถนนหนทาง ก่อจราจล ตัดน้ำ ตัดไฟ จิปาถะ ฉะนั้นการเจรจาต่อรอง เป็นเรื่องพื้นฐานเป็นเรื่องต้องรู้ เป็นเรื่องใช้ศิลปะมากกว่าศาสตร์ และต้อง Calm down ให้ได้ อย่าใจร้อนไปจะเสียการ แต่คุณต้องไม่ลืมนะว่านายจ้างลูกจ้างต่างก็มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติกันทั้งนั้น สิทธิในการรวมตัวกันของลูกจ้างมันก็เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ 98 และ 87 ตามลำดับ แม้ว่าในประเทศเรายังไม่ได้ให้สัตยาบันกับทั้ง 2 อนุสัญญานี้ก็ตาม แต่หลักการดังกล่าวก็ถูกเอามาใช้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ. ศ. 2518  ซึ่งได้มีพูดถึงการจัดตั้งองค์กร เช่น สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง รวมทั้งสิทธิเข้าร่วมเจรจาต่อรองไว้


แน่นอนว่า ระบบแรงงานสัมพันธ์มันเป็นเรื่องทวิภาคี ซึ่งต้องคุยกันและจบกันให้ลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ก็จะไม่ต้องลากหรือพึ่งพาอำนาจรัฐ แต่ถ้าหากไม่เป็นแบบนั้น มันก็จะถูกยกระดับเป็นไตรภาคีคุยกัน 3 ฝ่ายเลย คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ฉะนั้นจบให้ลง จบกันในบ้าน มันจึงเป็นศิลปะ มันต้องมีเทคนิค มันเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งด้านแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายไม่ได้เขียนศิลปะในการเจรจาต่อรอง แต่เราต้องรังสรรค์และสร้างสรรค์ขึ้นมา เราต้องดั้นด้นหาวิธีการที่บวกที่วิเศษ ไปให้ถึงซึ่งการบรรลุให้ได้ข้อตกลงที่พึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย

เทคนิคในการเจรจาต่อรอง เริ่มจากคุณลองถามนายจ้างดู คุณต้องการอะไรจากลูกจ้างบ้าง ในทางกลับกัน ลูกจ้างคุณต้องการอะไรจากนายจ้างบ้าง หาความต้องการนั้นให้มันตรงกัน ผมเชื่อนะว่าความมั่นคงทุกฅนอยากได้ แต่ผลประโยชน์ที่เรียกร้องอยากได้ใคร่มีมันก็ไม่ใช่จุดยืนตายตัวเสมอไป จนทำให้เสียจริตและสูญเสียตามมา อย่าหักไม่ยอมงอ ต้องยอมรับความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วย อย่าตะแบงยึดจุดยืนตนเองเท่านั้น (นั่งๆ นอนๆ มั่งก็ได้ เดี๋ยวเมื่อย ฮา) จำไว้ว่าทุกการเจรจาต่อรองคุณต้องยืดหยุ่น นุ่มนวลต่อตัวบุคคล ให้เกียรติ เคารพ กรุณาแยกแยะ ตัวบุคคลซึ่งเราอาจรักชอบโกรธเกลียด ไม่พอใจให้ออกจากเรื่องที่เราจะเจรจาต่อรองให้ออก เรียนรู้ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา ใส่ใจเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ อย่าปล่อยให้อารมณ์มาครอบงำ ไม่ตอบโต้ในทางที่ทำให้เกิดอาการหลังพิงฝา ต้องฟังให้ได้อย่างตั้งใจ เน้นการสื่อข้อความด้วยเหตุผล ด้วยความจริงใจและต้องให้ตรงประเด็น อย่าชักใบให้เรือเสีย การรับฟังมากๆ จะลดอาการวู่วามด่วนสรุปให้เย็นลงได้ จึงไม่ควรมุ่งเอาชนะคะคาน และตั้งมั่นในความคิด จนแข็งกระด้าง และไม่ยืดหยุ่น สิ่งสำคัญอีกอันคืออำนาจตัดสินใจ ในการเจรจาต่อรองต้องมี และการเตรียมความพร้อม ผมว่าอันนี้สำคัญนะ ไม่ใช่คุยจนได้ข้อสรุปแล้ว อ้าวใครตัดสินใจอนุมัติเนี่ย ชิบหายซิครับท่าน วงได้แตกกันพอดีงั้น

กรุณาจัดลำดับความสำคัญของข้อเรียกร้องที่ได้รับ ศึกษาองค์ประกอบข้อเรียกร้องแต่ละข้อให้ละเอียด เตรียมทางออกทางเลือก ในการประนีประนอม กำหนดหน้าที่ของ ผู้แทน ที่จะร่วมในการเจรจา ศึกษาผู้แทนในการเจรจาของอีกฝ่าย ถึงบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยใจคอได้ยิ่งดี แล้วประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ให้คิดเผื่อไว้อย่าโลกสวย ว่า…ถ้าเกิดล้มเหลว ล้มโต๊ะเจรจาหรือออกมาในทางไม่ดี คุณจะแบกรับ คุณจะแก้ และเตรียมตัวหาทางออกกันยังไงต่อไป เพื่อไม่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเลวร้ายและสูญเสียตามมาอย่างคาดไม่ถึงได้

ก่อนการเจรจาต่อรองจงทำการบ้าน คุณต้องเตรียมตรงนี้ให้พร้อม ต้องเข้าใจความต้องการจุดมุ่งหมายเจตนารมณ์ไม่ก็จุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่งให้ชัดใส แล้วนำมาทาบโดยการเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมาย กับเจตนารมณ์ของคุณเอง ใช้เวลาศึกษาพยายามมองเห็นสิ่งที่อาจจะอยู่นอกเหนือจากจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์นั้นๆ เอาไว้ด้วย

ในระหว่างการเจรจาต่อรองอย่าพูดให้เข้าเนื้อตัวเราเอง ต้องรู้ที่จะเปิดประเด็นยังไงและจบประเด็นยังไงให้มันเข้าที่เข้าทาง อ่านคนให้ออก อ่านสถานการณ์ให้ขาด แสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณเป็นพวกเดียวกันกับเขา อย่าอคติ อย่าตัดสินคนอื่นโดยเฉพาะจากความคิดของเราหรือพวกเราเอง เรื่องพรรค์นี้จะเกิดขึ้นก็เพราะคุณไม่ยอมทำการบ้านหรือทำมาไม่ดีพอ

แน่นอนครับระหว่างการเจรจาต่อรองบางทีคุณเองก็ได้มุมมองอะไรเพิ่มเติมจากข้อมูลที่คุณเตรียม คุณคิดหรือทำการบ้านไว้แล้ว แต่ยังไงซะต้องมั่นคงต้องหนักแน่น ในสิ่งที่คุณต้องการ บอกถึงเหตุและผลว่าเป็นยังไง มีจุดยืนที่ชัดเจน สังเกตด้วยว่าเรื่องไหนสำคัญสำหรับอีกฝ่ายหนึ่ง การดูคนออกบอกคนได้จึงเป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งเรียนจากทฤษฎีหรือใครก็สอนคุณไม่ได้ คุณต้องถูกจับไปอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ทางเหลือไม่มาก ยิ่งทางออกไม่มี โอกาสเลือกติดลบ คุณจะแกร่งมากขึ้นเท่านั้นบนโต๊ะเจรจาต่อรอง ก็มีคนถามอาจารย์กฤษฎ์นะว่า… ในชีวิตผมราบรื่นปกติสุข เป็นลูกคุณหนู เรียนจบมาทำงานเลย ใช้ชีวิตชิล์ลๆ ไม่เดือดไม่ร้อนอะไร แต่ต้องมาร่วมวงเจรจาต่อรองผมจะไหวไหม? อาจารย์ให้คำตอบไปว่าไม่ไหวครับ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแห่งการเรียนรู้ การเผชิญการเจรจาต่อรอง เรียนรู้จากของจริง แล้วคุณเอามาปรับกับ mindset (ที่ถูกต้องนะ) ของคุณให้ได้ ก็ต้องหมั่นฝึกฝน  หาประสบการณ์ จะหาเอง หรือ จะเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ถูกต้องจริงๆ ยิ่งดี ต้องรู้จักนำมาปรับใช้ประโยชน์ให้เป็น บางครั้งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มันอาจจะไม่ได้สอดคล้อง กับความคิดความเชื่อของคุณ ทุกอย่างในโลกไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบเสมอไป พลิกผันได้ แปรเปลี่ยนได้เสมอ ให้มองในทาง Worst-Case ที่สุดด้วย หาทางหนีทีไล่ให้เป็น มีแผนสำรองด้วย 

กรณีต่างคนต่างถอยไม่ได้ล่ะ เอาไงดี? อืม บางทีในการเจรจาต่อรองมันมีบางช่วง ที่ต่างคนต่างฝ่าย ไม่สามารถถอยให้กันได้มากไปกว่านั้น บางทีหลังมันพิงฝาแต่ละฝ่ายก็จะพยายามปกป้องจุดยืน ไม่ก็สิ่งที่ตัวเองต้องการจนหลงลืมไป ที่จะมองภาพใหญ่ ในขณะเดียวกันบางทีความรู้สึกและอารมณ์ โกรธเกลียดชิงชัง เหม็นขี้หน้าหรือเพราะมีปมอะไรในใจอยู่ก่อนก็ไม่รู้ได้ มันแทรกซึมเข้ามาในห้วงคิดคำนึงเดี๋ยวนั้นเลย ทำให้หวั่นไหวและมันมักจะล้ำนำหน้าเหตุและผลที่แต่ละฝ่ายมี จนทำให้คุยต่อไปไม่ได้ ขาดสติก็มี หากได้ตั้งสติและเริ่มเห็นว่าคุณและคู่เจรจาของคุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นลองดูซิว่าคุณจะสามารถยอมรับในสิ่งที่เขาต้องการได้แค่ไหนและพอจะมีทางออกอื่นหรือหาอะไรมาทดแทนสิ่งที่ทำให้คุณจำเป็นต้องถอยหลังไปสักก้าวสองก้าวได้ไหม ถ้ามันไม่เสียจุดยืนก็จงทำหรือหากจะยอมเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกกับผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่และหอมหวาน ผมว่าคุณถอยเป็นนะ แบบนี้เรียกว่ามีศิลปะและชั้นเชิงล่ะ


แล้วถ้ามันถึงทางตันล่ะ? ต่างคนต่างไม่ถอยเลย คุณก็ต้องพยายามหาปัจจัยหรือสิ่งอื่นๆ ที่จะใช้ต่อรองแทนด้วยก็ไม่เลวนะ (หาบางอย่างมาแลกเปลี่ยนแทน ไม่ก็เสนอหนทางใหม่ อะไรใหม่) ไม่แน่นะบางทีอาจจะไปถึงซึ่งจุดหมายได้ง่ายกว่าการยึดติดอยู่กับเป้าหมายเดิมก็เป็นได้ ถูกจ้าที่ว่า…เป้าหมายมีไว้พุ่งชน แต่ถ้าเป็นเป้าหมายในการเจรจาต่อรอง ถ้าคุณขืนดับเครื่องหรือพุ่งชนคุณอาจพังพินาศได้ ก็ต้องยอมลดราวาศอก เพลาๆ กับการยึดมั่นถือมั่นในเป้าหมายนั้นไว้ด้วยก็ดี

อยากจบมั๊ย? กฎสำคัญอันเป็นกฎเหล็กของการเจรจาต่อรอง คือ ต้องไม่เป็นคนที่ต้องเดินหันหลังออกไปจากการเจรจาต่อรองนั้น จงให้ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นคนที่เดินออกไปเอง บางครั้งการเจรจาคุณอาจพบว่ามีบางอย่างในข้อเสนอที่คุณรับมันไม่ได้เลยและคิดว่ามันอาจทำให้คุณโคตรหงุดหงิดหัวใจเลยและจะยิ่งมากขึ้นด้วย ถ้าคุณยังฝืนเจรจาต่อไปคือมันเริ่มตึง สิ่งที่คุณควรทำคือการบอกออกไปตรงๆ เลยถึงสิ่งที่คุณต้องการและถ้าเขารับไม่ได้ ก็ปฏิเสธมา มันไม่ใช่เป็นการกดดันนะครับ แต่เป็นการเว้ากันซื่อๆ เจรจากันแบบตรงไปตรงมา ให้บอกไปเลยถึงเหตุผลที่คุณไม่สามารถถอยไปได้มากกว่านี้แล้ว และอะไรเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำให้เขาได้มากที่สุด ซึ่งถ้าเขาไม่สามารถรับได้คุณก็คงไม่สามารถทำอะไรให้ได้มากกว่านี้เหมือนกัน อันนี้คือบทสรุป ของการเจรจาต่อรองในสถานการณ์จำเป็นต้องตันและต้องผ่าทางตันให้ได้

เอาล่ะ บางทีการเจรจา มันก็จำเป็นต้องใช้สถานการณ์เข้าไปกดดันเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรีบตัดสินใจให้ไวปิดเกมเสิร์ฟ ภายใต้เวลาที่จำกัดหรือต้องการบีบให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามที่เราต้องการและอยากได้ ถ้าคุณศึกษาตำราพิชัยสงครามซุนวูมีคำกล่าวหนึ่งของซุนวูที่ว่า "จริงคือลวงและลวงคือจริง" ดังนั้นคุณจึงต้องมีทั้งสติและปัญญาในการไตร่ตรองกับปัจจัยสิ่งต่างๆ ที่มันเข้ามาเพราะบางครั้งเรื่องจริงที่เราเห็นอาจเป็นเรื่องจริงที่อีกฝ่ายสร้างขึ้นมาให้เราคล้อยตาม จงศึกษาและฝึกทักษะการพูดเพื่อให้ใช้คำได้อย่างสร้างสรรค์และฝึกฝนการเจรจาแบบโน้มน้าวให้คนเชื่อให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำมันจนให้กลายเป็นความเคยชินหรือสันดานของคุณ แต่ต้องทำให้เป็นธรรมชาติ และต้องทำอย่างจริงใจ คนจึงประสบความสำเร็จ บนโต๊ะเจรจาต่อรองทุกโต๊ะ

ในการเจรจาต่อรอง ระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน มันมีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดเป็นเหมือนกับการเจรจาต่อรองทุกสตอรี่ คือ

1. มีที่มาจากการยื่นและแจ้งข้อเรียกร้องหรือความต้องการ ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างฝ่ายลูกจ้างก็ตาม

2. กระบวนการในการเจรจาต้องว่าไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ. ศ. 2518 (ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ จะต่างกันหน่อยเพราะฅนละตัวบทกฎหมาย) คือต้องเริ่มเปิดฉากเจรจาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง ถ้าตกลงได้ก็ไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างนำไปยื่นขอจดทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจรจาตกลงกันอย่างนี้ถือว่าสิ้นสุดการร่วมเจรจาต่อรอง แต่ถ้าไม่ยอมคุยกันภายใน 3 วัน หรือคุยกันแล้ว ไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่หนนานแค่ไหนกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่มันดันตกลงกันไม่ได้สักที แบบนี้ถือว่าเกิดข้อพิพาทแรงงานแล้ว ให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้อง ก็ต้องรีบเร่ง แจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เข้ามาไกล่เกลี่ยภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ตกลงกันไม่ได้นั่นแหละพนักงานประนอมข้อพิพาท มีกำหนด 5 วันในการ ไกล่เกลี่ย ให้คู่กรณีตกลงกัน ภายใน กระบวนการของการร่วมเจรจาต่อรอง ถ้าตกลงกันได้ ก็วนลูปไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อย่างที่พูดไปข้างต้นก็ถือเป็นอันยุติแต่ถ้าตกลงกันไม่ได้อีกใน 5 วันที่ว่านั้นกฎหมายบอกเลยว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กระบวนการร่วมเจรจาต่อรองก็อาจจะไปว่ากันตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งก็อาจจะถึงขั้นนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานก็เป็นได้ มันสุดทางคุยกันแล้วไงทำไงได้ เหมือนสิ้นสุดทางเลื่อนในสนามบินสุวรรณภูมิอ่ะนะ


อย่าลืมว่าในการเจรจาต่อรอง ต้องระวังเรื่องอารมณ์ คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ การแสดงท่าทีที่ไม่ให้เกียรติและความไม่จริงใจไว้ด้วย เพราะตรงนั้นมันส่งเสริมให้เกิดการหักเหหรือจุดเปลี่ยนของการเจรจาต่อรอง และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงในที่สุด ข้อมูลจำไว้เลยว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต้องเตรียมมาสนับสนุน สิ่งที่เรียกร้อง และสิ่งที่จะไม่ให้ตามข้อเรียกร้อง โดยต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมจำนนต่อเหตุผลและความเป็นจริงนั้นๆ ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม จำไว้ว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องภายในบ้านของเราอย่าชักศึกเข้าบ้านถ้าไม่จำเป็น

จริงๆ มีมากกว่านี้ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ แค่นี้ก็ล่อไปเยอะหน้าแล้วขอรับ เขียนลง f หลายหน้ามันตัดให้ตัวอักษรอ่านไม่ได้ถ้าอ่านผ่าน smartPhone ก็แปลกดี ไม่ว่ากันครับ ทางออกอื่นยังมี นี่ก็เป็นการต่อรองของ facebook เหมียนกัลล์

 

หวังใจครับว่าเทคนิคและศิลปะ ที่อาจารย์ได้เล่าสู่ให้ฟังนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย ลองฝึกฝนทำความเข้าใจหาประสบการณ์ ขอให้โชคดี ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองครับ.

 

♾∞♾∞♾∞♾∞♾∞
อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ 

♦ นักวิทย์ศิลป์ 

♦ ผู้เชี่ยวชาญ HRM HRD OD Strategic Management TQM ISO 
♦ ผู้นำแห่งกฎหมายแรงงานแบบบูรณาการ อันดับหนึ่งในประเทศไทย
♦ ผู้ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน เชี่ยวชาญการบริหาร เข้าใจนายจ้างลูกจ้าง
♦ my BLOG | http://AJK.bloggang.com
“ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เป็นธรรม ย้ำหลักสุจริต ไม่คิดเอาเปรียบ”

✺Credit : อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์
♦ Ref. : www.KRISZD.com
♦ Credit : ꍏj.Kяιꌗz∂ ꀎ-✞ɧąıཞaṭⒸ
♦ อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ นักวิทย์ศิลป์ Sc̫ίArϯίṧt

♦ ωωω.ƘRISZD.ꉓom 
♦ KDV@KRISZD.com 

#สำนักงานอาจารย์กฤษฎ์ #สัญญาต้องเป็นสัญญา #อาจารย์กฤษฎ์ #AJK #AjKriszd #SciArtist #อาจารย์กฤษฎ์อุทัยรัตน์ #นักวิทย์ศิลป์ #กฎหมายแรงงานในประเทศไทย #ที่ปรึกษากฎหมายแรงงานอันดับหนึ่ง #ผ่าประเด็นบริหารฅน #เจรจาต่อรอง #ศิลปะเจรจาต่อรอง