ด้วยความเคารพ |
คำพิพากษาศาลฎีกานี้
ผมไม่เห็นด้วย

28.11.2561 : ผ่าประเด็น บริหาร “ฅน” ชี้ถูกผิด “กฎหมายแรงงาน”

โดย… อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์
ด้วยความเคารพ | คำพิพากษาศาลฎีกานี้
ผมไม่เห็นด้วย
 
LINE@ :   https://goo.gl/LpxiYk 
f Messenger :  http://m.me/AJK.sciArtist/
 
 
#การกระทำอันไม่เป็นธรรม #เลิกจ้างไม่เป็นธรรม #คำพิพากษาศาลฎีกานี้ผมไม่เห็นด้วย #อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ #อำนาจศาล #พิพากษานอกตัวบทกฎหมาย
 

เชิญอ่านบทวิเคราะห์ด้านล่างได้บางส่วน ซึ่งสามารถอ่านได้จาก pdf file โปรดเลื่อนไปล่างสุดเพื่อคลิ๊กเปิด | ด้วยความเคารพ | คำพิพากษาศาลฎีกานี้  ผมไม่เห็นด้วย

 

✺หลักกฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ ก็เพื่อให้ศาลสถิตยุติธรรมได้ใช้ในการพิพากษาอรรถคดีให้เกิดความถูกต้อง เป็นธรรม มิเช่นนั้น “กฎหมายก็ไม่เป็นกฎหมาย” บรรทัดฐานก็จะแกว่งไปมา หาจุดยืนไม่ได้

ผมไม่สบายใจในบรรทัดฐานของศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานอยู่ฎีกาหนึ่งครับ ซึ่งก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าด้วยความเคารพจริงๆ ผมไม่อาจเห็นด้วยและคล้อยตามที่ท่านพิพากษาออกมาได้จริงๆ โดยปราศจากอคติใดๆ นะครับ ขอให้อ่านด้วยใจเป็นกลางเป็นธรรม ใช้ตรรกะและเหตุผลตรองไปด้วยกันดีๆ อย่าเชื่อไม่ลืมหูลืมตา! จึงอยากจะฝากถึงเราๆ ท่านๆ ว่าไม่ใช่สักแต่อ่านฎีกาเอามาอ้างอิงตะพึดพะพือ (✵จำไว้นะครับว่าคำพิพากษาศาลไม่ใช่กฎหมายนะครับ แต่อาจเป็นที่มาของกฎหมาย อาจถูกกลับคำพิพากษาได้ หากทนายความ นักกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ฎีกามีความเก่ง ฉลาดเฉลียว เข้าใจลึกซึ้งถึงรากเหง้าของมัน) การอ้างอิงฎีกาที่บริสุทธิ์ (คือไม่มีช่องให้เจาะว่าไม่ใช่ หรือไม่ถูก) ก็สมควรนำมาอ้างไปได้ ถ้าทะแม่งๆ ก็ทำคำฟ้อง คำให้การ อุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฎีกาหรือแก้ฎีกากันให้นำไปสู่การสะกิดศาล จนต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามกลับคำพิพากษาศาลฎีกาให้ได้ ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยมี มีเยอะมากครับ ต้องอย่าเชื่อฎีกาจนถอนตัวไม่ขึ้นเรียกว่า "บ้า" ฉะนั้นฎีกาไหนๆ หากสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ก็ถือปฏิบัติไป แต่หากอ่านไปงั้นๆ ไปหยิบจับ Search หา ค้นเจอ แล้วไม่ลองหัดวิเคราะห์เจาะลึกๆ ก็เท่ากับเชื่อตามที่พิพากษามา อย่างนี้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะพัฒนาไปได้อย่างไร ต้องหัดใช้สมองส่วนคิด-วิเคราะห์-แยกแยะทำงานหนักๆ หน่อยก็ดี หากผมสู้คดีและฎีกาเอง ผมจะต้องอ้างละเอียด ชี้ให้ศาลฎีกาท่านเห็น ให้คล้อยตาม (ถ้าชี้ไม่เห็น ท่านก็ตัดสินลวกๆ ได้) แต่นี่ทนายความหรือผู้ฎีกาไม่ได้เขียนฎีกาให้ครอบคลุม ไม่ชี้ให้เห็น ศาลท่านก็ปุถุชนฅนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ตำรากฎหมายเดียวกันแต่อาการ "✵สองฅนยลตามช่อง" ครับคนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย ฉะนั้นอาการพลาดไม่ใช่จะไม่มี ต่อให้ข้อกฎหมายแม่นๆ ก็เถอะครับ สี่ตีนยังรู้พลาดอ่ะนะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเล่าให้ฟังนี้ ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้เสียอะไรกับคดีที่ศาลตัดสินเลยนะ แต่ผมเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมีนักกฎหมายฅนไหนเห็นเลย ทั้งๆ ที่ตัดสินมาตั้งแต่ปี 2547 นี่ปาเข้าไปปีนี้ 2561 ก็ 15 ปีเข้าไปแล้ว ผมมองด้วยสุจริต วิพากษ์ด้วยการฝึกให้มองอะไรดีๆ ถี่ถ้วนหน่อย หากปล่อยให้บรรทัดฐานเช่นนี้ทำได้ ทำกันใหญ่ ไปกันใหญ่ และจะเป็นปัญหาให้เชื่อตามๆ กันมาจนไม่มีใครกล้าลุกขึ้นฎีกาให้กลับคำพิพากษา แต่หากเป็นผม ผม “ทำ” แน่ครับ ลองมาดูกันครับ เพราะที่ผมไม่เห็นด้วยมี 1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน เป็นหนึ่งเรื่องการพิพากษาใน “คดี…ไม่เป็นธรรม” ซึ่งมีอยู่ใน 2 กฎหมาย ได้แก่

1. ✵คดีการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม พรส. (พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518) ซึ่งกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของ ครส. หรือ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กับ

2. ✵คดีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พศร. (พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522) ซึ่งกล่าวถึงอำนาจของศาลไว้

 

มันคืออะไรนะหรือ ตามผมมาไขความกระจ่างว่าทำไม ผมไม่อาจเห็นด้วยได้จริงๆ รับรอง Long Story เรื่องมันยาวแน่นอนครับบทความวิเคราะห์ชิ้นนี้ เอ้า! เริ่มจาก คดีการกระทำอันไม่เป็นธรรมก่อนนะครับ มาดูตัวบทกฎหมายใน พรส.มาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า

“ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) มีอํานาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 23

(2) ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 24 หรือมาตรา 35 (4)

(3) ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมาย

(4) วินิจฉัยชี้ขาดคําร้องตามมาตรา 125 และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรม ให้มีอํานาจสั่งให้ ✵นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทํางานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ✵อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ✵ตามที่เห็นสมควร

(5) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้อง การเจรจา การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงานและการปิดงาน ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

(6) ตราข้อบังคับการประชุมและวางระเบียบการพิจารณาวินิจฉัย และชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดการกระทําอันไม่เป็นธรรม และการออกคําสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์”

► ผมอยากให้ดูมาตรา 41 (4) เน้นตรงคำว่า ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรม ให้มีอํานาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทํางาน หรือ ให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร

► หมายถึงอะไร? เอาล่ะ ผมขอแยกองค์ประกอบเป็นข้อๆ ดังนี้

 (1) กรณีที่ ครส. (✵คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) ชี้ขาดว่าเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรม คือ นายจ้างแพ้ว่างั้นเถอะ ก็ไปดูข้อ (2) ถึง (4) ต่อไปได้เลย "3 อำนาจในการสั่ง" ของ ครส.

 (2) ให้ ครส. มีอํานาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทํางาน หรือ

 (3) ให้ ครส. มีอํานาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหาย หรือ

 (4) ครส. มีอํานาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืน (เป็นนายจ้างก็ได้ ม่ใช่นายจ้างก็ได้ครับ ต้องไปดูว่าใครกระทำให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในแต่ละมาตรา คือ มาตรา 121 , 122 , 123 เพราะการกระทำไม่เป็นธรรมมีแค่ 3 มาตรานี้แหล่ะ) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร

► พอจะตามๆ กันทันนะครับ หากไม่ทันก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็กรุณาอ่านทวนซ้ำวนๆ ไปใหม่ก็ไม่ว่ากันครับทำความเข้าใจช้าๆ เดี๋ยวก็ทันเองหละหน่า!!! เพราะอาจารย์จะพยายามเขียนย้ำๆ ซ้ำซากให้เน้นเข้าใจ อย่าไปรำคาญก็แล้วกัน

► แสดงว่ากฎหมาย พรส.มาตรา 41 ต้องการให้อำนาจ ครส. สั่งได้อยู่ 3 กรณี ได้แก่

(1.) รับลูกจ้างกลับเข้าทํางาน

(2.) นายจ้างจ่ายค่าเสียหาย

(3.) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ขยี้ให้ถึงใจอย่างนี้ครับ ดูดีๆ ✵มาตรา 41 ใช้คำว่า “หรือ” คั่นในแต่ละอำนาจ และ “หรือ” นั้น เป็นคำสันธานเชื่อมความเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งครับ อย่าเพิ่งเชื่อผม ไปดูเลย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หน้า 1310 “หรือ” หมายความว่า “✺คำบอกความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาเงินหรือทอง ; คำประกอบกับประโยคคำถาม เช่น ไปหรือ?”

► มันก็ชัดเจนครับว่า ครส. ใช้อำนาจได้แต่ต้องเลือกว่าจะสั่งได้แค่อย่างเดียวเท่านั้น (1 ใน 3 อำนาจ) ตามความหมายในพจนานุกรมฯ จึงจะถูกต้อง เอาครับผมจะเจาะลึกให้ลึกลงไปอีก ยังเหลือที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปดูให้ดีๆ ตรง พรส.มาตรา 41 คำว่า "หรือ" สุดท้ายที่บัญญัติว่า “✵หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ✺ตามที่เห็นสมควร”

► จะเห็นเหมือนผมเห็นมั๊ย มันมีคำว่า “✺อย่างใดอย่างหนึ่ง” คำนี้ มีความหมายลึกซึ้งครับในแง่กฎหมาย ผมจึงขออ้างอิงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีการถกถึงหลักการใช้ถ้อยคำ “ใด-หนึ่ง” กับ “หนึ่ง-ใด” คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสมควรยึดถือเอาตามที่ถือปฏิบัติอยู่ และสมควรจะได้มีการรวบรวมที่มาและเหตุผลของหลักการใช้คำเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อใช้อ้างอิงในการร่างกฎหมายต่อไป [อ้างอิง : บันทึกการประชุมฝ่ายร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ครั้งที่ 5/2545 วันพุธ ที่ 11 กันยายน 2545 และอาจารย์กฤษฎ์ได้นำเนื้อหาเต็มมาไว้ในตอนท้ายของบันทึกหมายเหตุ เอาไว้อ้าง ไว้อิง แล้วทั้งหมดไปอ่านได้ครับ] กล่าวคือ ???? พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านนิติศาสตร์และอักษรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงความหมายของคำว่า “คนหนึ่งคนใด” และ “คนใดคนหนึ่ง” ซึ่งเสด็จในกรมฯได้ประทานความเห็น สรุปได้ดังนี้

“✺คนหนึ่งคนใด” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “any person” หมายถึงคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ และ

► คำว่า “✺คนใดคนหนึ่ง” ตรงกับคำว่า “a person” ซึ่งหมายถึงคนหนึ่งและคนเดียว

 

► และสามารถนำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้กับกรณีที่นำคำว่า “✵ใด-หนึ่ง” หรือ “✵หนึ่ง-ใด”ประกอบกับ คำอื่น เช่น “ข้อใดข้อหนึ่ง” หรือ “สิ่งหนึ่งสิ่งใด” ได้และมีนัยเช่นเดียวกัน

► ฉะนั้น คำว่า “✵อย่างใดอย่างหนึ่ง” จึงมีความหมายอย่างแคบคือ อย่างหนึ่งและอย่างเดียวครับ ครส.จะไปซี้ซั๊วใช้อำนาจหลายอย่างเปรอะเลอะเทอะไปหมดนั้นดูจะไม่งามและไม่เป็นการถูกต้อง

✵เมื่อเข้าใจกันแล้วอาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ ขอคัดคำพิพากษาศาลฎีกา (ย่อ) ที่พิพากษากรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรานี้มาให้พิจารณากัน ดังนี้ครับ

 

⚖️ ️คำพิพากษาฎีกาที่ 8667/2547 | เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 แล้ว ก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายโดยใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกานี้เองครับที่ผมไม่อาจเห็นด้วยได้จริงๆ พยายามทำใจ คิดวกวนให้เชื่อแล้วนะ แต่มันก็เหมือนโกหกใจตัวเองให้ต้องไปยอมรับตามคำพิพากษาศาลฎีกาแบบตามน้ำไปนั้น ผมทำไม่ได้ว่ะ! มันไม่ใช่ผม เพราะเป็นการพิพากษาโดยขัด (ฝ่าฝืน) กับกฎหมายเสียเองและพิพากษาขยายขอบเขตอำนาจของ ครส. ให้ล้นๆ และกว้างไกลออกไป (พิพากษากู่ไม่กลับนอกกฎหมายไปเลย มันรับไม่ได้ครับ) ดูคำพิพากษาฎีกาที่ว่าข้างต้นนะครับ ผมจะวิเคราะห์ให้ดู (คำและประโยคในคำพิพากษาที่ตัดสินออกมา) ตามนี้…

 

1. “ย่อมมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหาย” ประโยคนี้ "ผิด" ครับ อันนี้พิพากษาขัดต่อ พรส.มาตรา 41 (4) ที่บัญญัติว่า “ให้มีอํานาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทํางาน หรือ ให้จ่ายค่าเสียหาย” แต่ศาลฎีกาใช้คำว่า "และ" มาแทนคำว่า "หรือ" หน้าตาเฉยเลย ทั้งๆ ที่ศาลท่านน่าจะรู้ดีว่า คำว่า “และ” เป็นคำสันธานเชื่อมความคล้อยตามกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หน้า 1089 “และ” หมายความว่า “กับ , ด้วยกัน” คือเอาหลายอย่างได้ ไม่ใช่อย่างเดียว มันตรงข้ามกันกับคำว่า “หรือ” คือ เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือเอาอย่างเดียวพออย่าเยอะ

2. “ไม่มีข้อจำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น” อืม! ทำอาจารย์กฤษฎ์ไปไม่เป็นเลยครับ พิพากษามาแบบนี้ เพราะ พรส.มาตรา 41 (4) ที่บัญญัติว่า “หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร” ก็ย่อมมีความหมายว่า ✵มีข้อจำกัด ว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้โน่น นี่ นั่น ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ครับ คำว่า “✵อย่างใดอย่างหนึ่ง” มีความหมายอย่างแคบคือ อย่างหนึ่งและอย่างเดียวครับอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น จะไปบอกว่าเอ็งมีคำสั่งได้เต็มที่ จัดหนัก จัดเต็ม จัดไปตามสบายนั้น ผมว่าไม่ถูกต้องเอาเสียเลย กลายเป็น ครส.มีอำนาจล้นฟ้ากว่าศาลนะครับเนี่ย และตอนท้ายประโยค กฎหมายก็เขียนว่า “✵ตามที่เห็นสมควร” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรเลยเถิดได้เต็มที่ ล้นๆ เกินสมควรได้นะครับ มันไม่แฟร์

► ศาลแรงงานจะมีอำนาจพิพากษาคดีเพื่อขยายอำนาจให้ ครส. ได้นั้น ต้องดูก่อนว่า บทบัญญัติของกฎหมายในมาตรา 41 (4) มิได้บัญญัติห้ามไว้ แต่เมื่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) บัญญัติห้ามไว้ชัดเจนด้วยคำว่า “หรือ” และ “อย่างใดอย่างหนึ่ง” ✵ด้วยความเคารพ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานก็ไม่มีสิทธิพิพากษาขยายอำนาจให้ ครส. เกินจากที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ ศาลเองก็ต้องเคารพกฎหมาย จะไปเขียนหรือตกแต่งกฎหมายขึ้นมาใหม่นั้นไม่ควร แต่ถ้าจะ "ตีความ" อันนี้เป็นอำนาจและหน้าที่ศาล ใช้ไปได้เลย "ดุลพินิจ" แปลว่า ตามใจท่าน นั่นแหละ

► เอาล่ะ ✺ทั้งหมดนั้นคือเหตุผลที่ผมไม่มีวันเห็นด้วยได้อย่างยิ่งครับ ต่อมา เรามาดู คดีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กันต่อครับ ดูที่ตัวบทกฎหมายก่อนจะอยู่ในอีกกฎหมายหนึ่ง คือ พศร.มาตรา 49 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทํางานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคํานึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทํางานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา”

► หมายถึงอะไร? เอาล่ะ ผมขอแยกองค์ประกอบเป็นข้อๆ อีกเช่นเคย ว่ากันดังนี้ครับ

 (1) ในกรณีถ้าศาลแรงงาน (มีความ) เห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

 (2) ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทํางานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง (กรณีศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างอาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ ไม่น่ามีปัญหาถ้าสั่งรับกลับเข้าทำงาน)

 (3) ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคํานึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทํางานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

 

สังเกตให้ดีๆ "ไม่มีคำสันธาน" ใช้เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค หรือข้อความกับข้อความเลยนะครับ แต่ทว่ามันมีการแบ่งแยกชัดๆ ในตัวบทกฎหมายด้วยเงื่อนไขไว้แล้วครับ ดูในองค์ประกอบที่ผมแยกข้อ (2) กับ ข้อ (3) นั่นปะไร มันมี✺เงื่อนไขอยู่ 2 เงื่อนไขให้ศาลเลือกพิพากษาว่า 'อาจ' หรือ  'ไม่อาจ' ไงล่ะครับ ตรงนี้มันแทนคำสันธานว่า “หรือ” ไปในตัวครับ

► เงื่อนไขที่ 1 : ✺ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างอาจทํางานร่วมกันต่อไปได้

► เงื่อนไขที่ 2 : ✺ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้

► ซึ่งถ้าศาลแรงงานเลือก เงื่อนไขที่ 1 ก็ต้องพิพากษาสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทํางานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง (ซึ่งการจะสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานไม่ได้เด็ดขาด มันผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ศาลขยายอำนาจตนเองในการพิพากษาคดี ฉะนั้นระหว่างที่ถูกเลิกจ้างนั้นลูกจ้างต้องไม่ได้อะไรเลยและศาลก็จะพิพากษาให้ย้อนหลังก็ไม่ได้ด้วย)

► แต่ถ้าศาลแรงงานเลือก เงื่อนไขที่ 2 ก็ต้องพิพากษาให้นายจ้างจ่าย “ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” (กฎหมายใช้คำว่า โดยกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคํานึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทํางานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา)

► ต้องเป็นแบบนี้ครับ และคำพิพากษาศาลฎีกาก็ออกมาแบบนี้จริงๆ อย่างนี้ซิ ผมเชียร์สุดลิ่มทิ่มประตูก็เพราะมัน "ถูกต้อง" กล่าวคือพิพากษาสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายยังไงหละ

⚖️ ️คำพิพากษาฎีกาที่ 5761/2539 | การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ศาลแรงงานอาจมีคำสั่งได้ 2 ประการ คือ

(1) ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไป ประการหนึ่ง และ

(2) ให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง    ในกรณีที่เห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ อีกประการหนึ่ง

► ในกรณีศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไป กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานด้วย

► อาจารย์กฤษฎ์ : และยังมี คำพิพากษาฎีกาที่ 7213/2546 วินิจฉัยในแนวทางเดียวกันครับ แต่หากเป็น “การกระทำอันไม่เป็นธรรม” ครส.จะมีอำนาจสั่งแหลกลาญได้เลยนะครับ (เซ็งห่านกันไปเลยทีเดียว - คือหนักกว่าเซ็งเป็ด) ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย ดูจะใหญ่กว่าศาล และศาลดันไปยืนยันขยายอำนาจให้ ครส. แบบที่ฎีกาข้างต้นตัดสินออกมาด้วย อาจารย์เห็นว่ายิ่งไม่ถูกกฎหมายอย่างแน่นอนครับ เท่ากับว่า ครส. เชื่อไปแล้วว่าตัวเองมีอำนาจล้นทะลัก ชั้นจะออกคำวินิจฉัยยังไงก็ได้มีศาลเป็น Back ให้ มันจะทำให้ ครส.ตัวใหญ่เป็นยักษ์เลยครับ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ครส. ท่านจะลุแก่อำนาจหรึป่าวก็เท่านั้น แต่ผมเชื่อนะ ครส. Mind set ดีงามจะไม่เหลิงลมในอำนาจหรอกครับ แต่เพื่อความปลอดภัยหากในอนาคตใครสู้คดีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเรื่องคำสั่งของ ครส.ในยุคสมัยนี้ อุทธรณ์และฎีกา ขอให้นำความเห็นที่อาจารย์วิเคราะห์ไปต่อสู้ รับรองฎีกาพลิก (ทับ) อย่างแน่นอนครับ ผมเชื่อใน "ตัวบทกฎหมาย" มากกว่า คำพิพากษาศาลไม่ว่าจะชั้นไหนๆ ก็ตาม เพราะคำพิพากษาที่ดีต้องตัดสินมาจากตัวบทกฎหมายเขียนไว้และได้ให้อำนาจไว้ จะไปเที่ยวปรุงแต่งเลยเถิดมโนบรรเจิดเกิดจินตนาการไกลโพ้นนั้น หาได้ไม่ แต่เขียนอุทธรณ์และฎีกาให้ดีและเขียนให้เป็น ชี้ให้ศาลท่านเห็นให้ได้ แม้ฅนเราจะมีอัตตา ความเชื่อมั่นในจุดยืนตนเองให้ตายยังไงก็ตาม แต่ไม่อาจงัดง้างเหตุผลที่ดี ถูกต้องและสุจริตได้หรอกครับ สู้ต่อไปเพื่อให้พลังยุติธรรมจงได้สถิตในตัวท่านและศาลที่เคารพ จะทำให้ฅนเกิด "ศรัทธา" ได้อย่างแน่นอน คือจงเชื่อในเหตุผลของคำตัดสิน ไม่ใช่เชื่อศาล หรือไม่ใช่เชื่อคำพิพากษาเท่านั้น หากอะไรๆ ที่มันไม่ใช่ มันจะถูก Disrupt แน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง

⚖️ ️คำพิพากษาฎีกาที่ 1776-1777/2543 | แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และเสียหายเพียงใด แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องตั้งประเด็นไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กับขอให้ใช้ค่าเสียหาย และศาลแรงงานกลางพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้น ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 แล้ว ก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

► อาจารย์กฤษฎ์ : คดีนี้ศาลเลือกพิพากษาตาม เงื่อนไขที่ 2 ครับ คือ ให้นายจ้างจ่าย “ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” และต่อให้ศาลทำงานพลาดคือ มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลก็ไม่ผิด แค่ศาลแรงงานกลางพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วฟันธงไปได้เลย

 

⚖️ ️คำพิพากษาฎีกาที่ 2991-2992/2549 | พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทํางานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน…”

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้อำนาจศาลแรงงานที่พิจารณาคดีเลิกจ้าง มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทุกคดี รวมทั้งคดีที่นายจ้างเป็นรัฐวิสาหกิจ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่คดีที่นายจ้างเป็นเอกชนหรือคู่กรณีเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้เงินต่างๆ เป็นคดีที่ต้องพิจารณาในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง

ศาลแรงงานกลางจึงนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มาใช้บังคับได้ และการที่จะพิจารณาว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่

เนื่องจากบทวิเคราะห์มีความยาวมาก จึงเกินกว่าที่ระบบจะรับไหว โปรดคลิ๊กอ่านต่อเต็มฉบับที่นี่ครับ Analysis Don't Agree Supreme Court by AJK