คำพิพากษาศาลฎีกา
เอามือวางที่ต้นขา ใช้มือโอบเอว เอื้อมบีบต้นคอ
แล้วบอก “ตกหลุมรักหนูนะ”
ผิดกฎหมายแรงงาน ไล่ออกได้หรือไม่

หมายเหตุ : ข้อความที่ไม่ได้ระบุว่า อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ หรือ ไม่ได้อยู่ใน (วงเล็บ) จะเป็นข้อความจริงๆ จากคำพิพากษาของศาลฎีกา

เอามือวางที่ต้นขา ใช้มือโอบเอว เอื้อมบีบต้นคอ แล้วบอก “ตกหลุมรักหนูนะ” ผิดกฎหมายแรงงาน ไล่ออกได้

การที่โจทก์เอามือไปวางที่ต้นขาและใช้มือโอบเอวของนางสาวสุธินี โดยที่นางสาวสุธินีแสดงปฏิกิริยาไม่ยินยอมและปกป้องตัวเองทุกครั้ง และในวันรุ่งขึ้นขณะนางสาวสุธินีขับรถได้บอกว่าปวดที่บริเวณต้นคอ โจทก์ก็ยังใช้มือเอื้อมไปบีบต้นคอของนางสาวสุธินีอีกซึ่งนางสาวสุธินีก็ได้ใช้มือปัดออก  เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟแดงโจทก์ได้พูดว่า  ตกหลุมรักลูกน้องเข้าไปแล้ว  เช่นนี้  พฤติกรรมดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจึงเป็นการคุกคามก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อนางสาวสุธินี

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16 , มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2560  

แม้นางสาวสุธินีจะเข้าไปดื่มสุราจะเข้าไปดื่มสุรากับโจทก์ในร้านยูบาร์มืดและที่มีลักษณะเป็นดิสโกเธค แต่ก็มิได้หมายความว่านางสาวสุธินีจะยินยอมให้โจทก์ล่วงเกินทางเพศ หรือโจทก์มีสิทธิที่จะล่วงเกินทางเพศต่อนางสาวสุธินีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้ตามใจชอบ  การที่โจทก์เอามือไปวางที่ต้นขาของนางสาวสุธินีและใช้มือโอบเอวของนางสาวสุธินีโดยที่นางสาวสุธินีแสดงปฏิกิริยาไม่ยินยอมและปกป้องตัวเองทุกครั้งและในวันรุ่งขึ้นขณะนางสาวสุธินีขับรถได้บอกว่าปวดที่บริเวณต้นคอจะส่งโจทก์เข้าที่พักก่อนแล้วนางสาวสุธินีจะไปนวดต่อ  โจทก์ก็ยังใช้มือเอื้อมไปบีบต้นคอของนางสาวสุธินีอีกซึ่งนางสาวสุธินีก็ได้ใช้มือปัดออก  เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟแดงโจทก์ได้พูดว่า  ตกหลุมรักลูกน้องเข้าไปแล้ว  เช่นนี้ พฤติกรรมดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจึงเป็นการคุกคามก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อนางสาวสุธินีผู้ใต้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 16  อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย  ข้อ 8.3.7 ที่ห้ามพนักงานกระทำการใด ๆ อันไม่สมควรที่วิญญูชนพึงปฏิบัติหรือกระทำการใด ๆ อันส่อไปในทางเสื่อมเสียด้านศีลธรรมอันดี  ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)  จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ประเด็นแห่งคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 บัญญัติเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทํา การล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรําคาญทางเพศต่อลูกจ้าง” และ มาตรา 147  “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท” (ไม่มีโทษจำคุกนะจ๊ะ) กฎหมายสื่ออะไรมิทราบ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับ คืออย่างนี้นะ

1.       กฎหมายท่านห้ามฅน 4 จำพวกไว้มิให้ไปทำอะไรบัดสีบัดเถลิงกับลูกจ้าง ได้แก่ 1. ตัวนายจ้าง 2.หัวหน้างาน (ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไรยังไงก็ช่าง เช่น ผู้จัดการแผนก ผู้จัดการฝ่าย หัวหน้าส่วน CEO รองประธาน ฯลฯ) 3. ผู้ควบคุมงาน (คือ ฅนที่บังคับบัญชาสั่งงานให้งานที่ผู้บังคับบัญชาดูแลอยู่นั้น เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ลื่นไหลตามความประสงค์ของนายจ้างทำนองนั้น) หรือ 4. ผู้ตรวจงาน (ใครก็ได้ที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบ ประเมิน ตรวจตรา ปล่อยผ่านผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ ก็ตามเถอะ) ทั้งหมดที่ว่ามานั้น จะมีตำแหน่งอะไรเล็กใหญ่ปานใดก็เข้าข่ายหมด

2.       ห้ามบุคคลตามข้อ 1. ไป ทำอะไรมิดีมิร้าย ได้แก่ “ล่วงเกิน”  ซึ่งเมื่อกฎหมายไม่นิยามไว้ ตามแบบฉบับการตัดสินแบบศาลไทยๆ ก็ต้องเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดูซิครับ ก็ได้ความว่า หมายถึง (ก.) แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาทด้วยการลวนลาม ดูหมิ่น สบประมาท เป็นต้น

3.       คำว่า “คุกคาม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แปลความว่า (ก.) แสดงอำนาจด้วยกิริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว, ทำให้หวาดกลัว

4.       ส่วนคำว่า “เดือดร้อนรําคาญ” แยกออกจากกันคือ “ความเดือดร้อน” จะหมายถึง (ก.) เป็นทุกข์กังวลไม่เป็นสุข ส่วน “รําคาญ” (ก.) คือ ทำให้เดือดร้อน, เบื่อหน่าย ฉะนั้นคำว่า“เดือดร้อนรําคาญ” ก็คือ การทำให้เกิดความทุกข์กังวลไม่มีความสุขและเบื่อหน่ายตามมานั่นเอง

5.       พิจารณาดีๆ จะเห็นว่า คำว่า “ล่วงเกิน”  “คุกคาม” “เดือดร้อนรําคาญ”ต้องเกี่ยวกับ ทางเพศ ด้วย ทางอื่นไม่เกี่ยวนะครับ เช่น ด่าว่าบุพการี ขู่ว่าจะซ่อมธำรงวินัย จ้ำจี้จำไชในการทำงานทำให้เบื่อหน่าย เซ็งเป็ดหรือห่าน หงส์ก็ตามที แบบนี้ไม่ผิดกฎหมายมาตรา 16 นะครับ เพราะไม่เกี่ยวกับทางเพศ

6.       ลูกจ้าง ที่กฎหมายถือว่าห้าม “ล่วงเกิน”  “คุกคาม” หรือก่อความ “เดือดร้อนรําคาญ” นั้น จะเป็นชาย หรือหญิง หรือเด็ก หรือเป็นทอม ตุ๊ด ดี๊ ฯลฯ ก็ได้ครับ ไม่ใช่จะเจาะจงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น

๏  ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ

(ก)    ลูกจ้างหญิงนางไปดื่มเหล้ากับหัวหน้างานในร้านที่มืดๆ ศาลท่านมองว่าการที่ลูกจ้างสาว (ส่วนจะสวยหรือไม่คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้บันทึกเอาไว้) ยอมไปดื่มเหล้ากับหัวหน้างาน มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะใจง่าย โอนอ่อนผ่อนตาม ว่านอนสอนง่าย หมูในอวย หรือจะ “ง่ายๆ” ได้ หัวหน้างานจะมโนไปเองว่า เมื่อยอมมาดื่มเหล้าย้อมใจและอยู่ด้วยกันในที่มืดๆ ด้วยแล้ว ต้องเสร็จเราแน่ๆ ต้องยอมเราแหง๋ๆ เฮ้ย คิดผิด เพราะคุณมโนเหมาโหล ไม่ได้ครับ ทึกทักแบบเข้าทางหัวหน้างานดูจะไม่แมน (Man) นะคราวนี้

(ข)    การที่หัวหน้างานเอามือไปวางที่ต้นขาแค่วางเฉยๆ ก็ผิดกฎหมายครับ ไม่ต้องลูบไล้ หรือปูไต่ให้สยิวกิ้วก็ได้ แถมใช้มือเป็นปลาหมึกไปโอบเอวนาง โดยนางไม่ได้ยอมและคอยปัดป้องตลอดเวลาแบบเอาจริงเอาจัง แต่หากปัดป้องพอเป็นพิธีจะผิดกฎหมายป่าว? ก็ผิดอยู่ดี เพราะเข้าข่าย “ล่วงเกิน” ไงล่ะครับ คือยอมให้ “ล่วงเกิน”  “คุกคาม” หรือก่อความ “เดือดร้อนรําคาญ” ได้ตามชอบใจ เพราะชอบอยู่แล้วด้วย ผู้กระทำก็มีความผิดครับ     เพราะกฎหมาย ห้ามฅน 4 จำพวก ไว้ไงล่ะครับ แต่หากลูกจ้างที่สมยอมแล้วไม่เอาผิดก็ไม่เกิดอะไรขึ้นกับฅน 4 จำพวก ที่ว่าไว้ แต่ถามว่าผิดกฎหมายมั๊ย มันผิดแน่ๆ เพียงแต่เจ้าตัวเค้าไม่ร้องเรียน ไม่ฟ้องร้องก็ถือว่ารอดไปก็แค่นั้น

(ค)    มาว่ากันต่อ เรื่องของเรื่องวันรุ่งขึ้น (ได้ใจ) ยังไม่เลิก อีตาหัวหน้างานฅนนี้ จะเอาให้ได้ว่างั้นเถอะ ขณะลูกจ้างสาวขับรถ (เป็น Driver ให้หัวหน้างาน) นางได้บอกว่า “ปวดที่บริเวณต้นคอจะส่งหัวหน้าเข้าที่พักก่อน แล้วหนูจะไปนวดต่อนะค่ะ”  เจ้าหัวหน้างานชีกอฅนนี้ได้ทีคิดเข้าข้างตัวเองทำนองว่า “หนูอย่าได้เสียเงินเสียทองไปนวดเลย เดี๋ยวพี่จัดให้” จึงมโนไปไกลว่าลูกน้องอยากให้บีบนวดคลึงเค้นให้ นางคงเล่นด้วยแน่ๆ ถึงได้ออกปากเชื้อเชิญแบบนี้ จึงได้ใช้มือเอื้อมไปบีบต้นคอลูกน้องสาว โดยพละการ แน่นอนซิ นางไม่เออออห่อหมกด้วยก็ปัดป้องเป็นพัลวัน

(ง)     ยังไม่จบ หัวหน้างานฅนนี้ยังจะบอกรักขณะรถติดไฟแดงด้วยว่า “พี่น่ะตกหลุมรักหนูเข้าแล้วนะ” 

๏ หลายๆ พฤติกรรมดังกล่าวของอีตาหัวหน้างานฅนนี้ ศาลฎีกามองว่าเป็นการคุกคามก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกน้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 16 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยครับ

๏ ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยในการทำงานกรณีที่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)  ไม่รอดครับ นายจ้างจึงได้เลิกจ้าง (ไล่ออก) โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยครับตาม มาตรา 17 วรรค 4 “การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

๏ “การล่วงเกินทางเพศ”หมายถึงพฤติกรรมอื่นใดนอกเหนือ จาก “การล่วงละเมิดทางเพศ” โดยการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกว่าขัดกับความปราถนาของตน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ“เพศ”และมีเหตุดังนี้

1.       ใช้เป็นเงื่อนไขในการ แลก กับการยอมหรือไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านการทำงาน การศึกษา การอบรม การบริการ การวางแผนการ และกิจกรรมต่าง ๆ

2.       อาศัยการแพร่กระจายด้วย ตัวหนังสือ ภาพ เสียงหรือวีดีโอ หรือรูปแบบอื่น ๆ หรือใช้วาจา การกระทำดูถูก เหยียดหยาม หรือวิธีการอื่นใด ที่ทำให้บุคคลอื่น ต้องสูญเสียศักดิ์ศรีหรือทำให้บุคคลอื่นเกิดความหวาดกลัว รู้สึกว่าเป็นศัตรู หรือล่วงละเมิดตนหรือส่งผลต่อการทำงาน การศึกษาการฝึกอบรม การบริการ การวางแผนงาน กิจกรรมหรือ ชีวิตประจำวัน

ประมาณนี้นะครับ รู้แล้วอย่าทำล่ะ เข้าใจตรงกันนะ.

 

อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ 

นักวิทย์ศิลป์   ผู้เชี่ยวชาญ HRM HRD OD Strategic Management TQM ISO 

ผู้นำแห่งกฎหมายแรงงานแบบบูรณาการ อันดับหนึ่งในประเทศไทย

ผู้ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน เชี่ยวชาญการบริหาร เข้าใจนายจ้างลูกจ้าง

“ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เป็นธรรม ย้ำหลักสุจริต ไม่คิดเอาเปรียบ”

✺Credit : ????อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์

Ref. : www.KRISZD.com

Credit : ꍏj.Kяιꌗz∂ ꀎ-✞ɧąıཞa̘̫͈̭͌͛͌̇̇̍ṭⒸ

อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์   นักวิทย์ศิลป์ Sc̫ίArϯίṧt

ωωω.ƘRISZD.ꉓom

KDV@KRISZD.com

#บริหารทรัพยากรบุคคล #กฎหมายแรงงานปี2560 #Management #KRISZD#number1กฎหมายแรงงานในประเทศไทย #ผู้เชี่ยวชาญHRM_HRD_OD_StrategicManagement_TQM_ISO_Safety_BusinessAnalysis #AjKriszd #AJK #KDV #สภาพการจ้าง #ที่ปรึกษากฎหมายแรงงานอันดับหนึ่ง #อาจารย์กฤษฎ์ #อาจารย์กฤษฎ์อุทัยรัตน์ #ผ่าประเด็นบริหารฅน #LabourProtection#LabourRelation #KriszdUthairatn #คดีแรงงาน #ทนายความคดีแรงงาน #ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน #อันดับ1คดีแรงงาน #ระเบียบข้อบังคับและแนวปฏิบัติการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับพนักงาน #สัญญาจ้างแรงงาน #สัญญาทางธุรกิจทุกประเภท#สำนักงานอาจารย์กฤษฎ์ #AJKsMissionDevelopmentCenter