คำพิพากษาศาลฎีกา
“การประเมินผลงานได้คะแนนต่ำสุดในหน่วยงาน ก็เลิกจ้างไม่ได้”

ผ่าประเด็น บริหาร “ฅน” ชี้ถูกผิด กฎหมายแรงงาน

วิเคราะห์โดย…อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ นักวิทย์ศิลป์ ผู้ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน 

►อันดับหนึ่ง บูรณาการกฎหมายแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ และธุรกิจในประเทศไทย

(Leading specialist in integrated Labour Laws Human Resource and Business Management in Thailand)

หมายเหตุ : ข้อความที่ไม่ได้ระบุว่า อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ หรือ ไม่ได้อยู่ใน (วงเล็บ) จะเป็นข้อความจริงๆ จากคำพิพากษาของศาลฎีกา

เชิญ Download pdf file /วิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832-2833/2546.pdf

“การประเมินผลงานได้คะแนนต่ำสุดในหน่วยงาน ก็เลิกจ้างไม่ได้”  

คำพิพากษาฎีกาที่ 2832-2833/2546

บริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ร้อง นายสมพงษ์ ทองมาก กับพวก ผู้คัดค้าน

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 (มาตรา 121)

 

ผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติต้องใช้บุคลากรจำนวนมากการดำเนินกิจการมีกำไรตลอดมา ทั้งปริมาณงานและผลผลิตมิได้ลดลง ส่วนที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าลดลงทำให้ต้องผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติลดลงนั้นเป็นเพียงการคาดคะเน  แม้เป็นมูลเหตุให้ผู้ร้องต้องปรับโครงสร้างบุคลากร แต่ก็ไม่มีผลทำให้ต้องยุบหน่วยงานที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างทำงานอยู่ผู้ร้องกลับจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกหลายคนแม้มิได้ให้ทำงานในแผนกที่ผู้คัดค้านทำงานอยู่ แต่ย่อมจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการลดจำนวนบุคลากรลงให้เหมาะสมกับงาน แม้ผู้ร้องได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นพิจารณาแก่ลูกจ้างทุกคนแต่ผลการประเมินได้ระบุเพียงว่าผลปฏิบัติงานของผู้คัดค้านได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานเท่านั้นโดยไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านไม่สามารถทำงานให้ดีได้ หรือทำงานให้ผู้ร้องเสียหายอย่างไรหรือได้กระทำผิดประการใดหรือมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องเลิกจ้างเฉพาะผู้คัดค้านเท่านั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอถึงขนาดที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

 

อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ประเด็นแห่งคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ผมเองเคยมองข้อเท็จจริงนี้มาก่อนศาลตัดสิน ดูรู้ว่านายจ้างแพ้เพราะไม่เป็นมวย ผมเองได้วางบรรทัดฐานเรื่อง “ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน” ขั้นเทพให้องค์การต่างๆ มากมายก่ายกองและไม่เคยมีองค์การ บริษัทหรือนายจ้างรายใดที่ทำตามผมแล้วจะแพ้คดีแบบนี้เลย

เรื่องของเรื่อง ศาลฎีกาท่านว่างี้ครับ อ่อ ขอบอกว่าคดีนี้ศาลแรงงานกลาง (ศาลชั้นต้น) ตัดสินให้นายจ้างชนะ ได้เฮไปพักนึงครับ ดูรูปคดี รูปมวยแล้วแพ้เห็นๆ ในบั้นปลาย

1.       การที่บริษัทนายจ้างอ้างต่างๆ นานาว่าแนวโน้มการใช้ไฟลดลง จึงต้องผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลง นั้น เป็นแค่การ “มโน” (คาดคะเน) หรือคิดไปเอง และข้อเท็จจริงมันสวนกับกำไร ปริมาณงาน ผลผลิตที่ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย แม้ Trend ในอนาคตจะเป็นอย่างที่คิด ก็ห้ามคิดนำไปบริหารจัดการเพราะมันยังไม่ถึงเวลาว่างั้นเถอะ อาจออกหัวหรือก้อยก็ได้

2.       นายจ้างรายนี้ แก มโนแจ่มเสร็จก็ Re-organization ซิครับ แน่นอนศาลไม่เล่นด้วย ศาลมองว่าไม่ถึงกับต้องไปยุบไปเยิบหน่วยงานใดๆ ของลูกจ้างที่ฟ้อง (ในฐานะผู้คัดค้าน) แถมเป็นกรรมการลูกจ้างอีกด้วย หนำซ้ำนายจ้างดันทะลึ่งไปทำอะไรต่อมิอะไรสวนทางไปกันใหญ่ คือไปจ้างฅนในหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มอีก แม้ไม่ได้จ้างในหน่วยงานที่ลูกจ้างรายที่ฟ้องทำก็ตามเถอะ แต่มันสะท้อนว่าคุณยังมีรายได้ ยังไหว หากไม่ไหวไปจ้างฅนเพิ่ม เพื่อเพิ่มต้นทุนทำไม ศาลเลยมองว่าอ้าวงั้นก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเยอะขึ้นซิแล้วมันเรียกว่า Downsizing ตรงไหนมิทราบ

3.       การลดจำนวนฅนให้เหมาะกับงาน ดูจะเป็นข้ออ้างที่หากไม่มีเหตุมีผลสอดกับความเป็นจริงแล้วละก็…เหนื่อยครับ แพ้แหง๋ๆ ไตร่ตรองดีๆ โดยเฉพาะการเล่นกับระบบการประเมินผลงานด้วยแล้ว ถ้าใช้อารมณ์ ความรู้สึกผู้ประเมิน การตั้งธงไว้แล้วว่าจะคัดเอาใครออกไป อคติ 4 รักชอบ โกรธ หลง กลัวผสมผเสด้วยแล้ว ตราชั่งเอียง ไม่เป็นธรรมเห็นๆ อย่าริทำ

4.       ผลการประเมินแม้ประเมินออกมาต่ำสุดทะลุลงดิน ลงเหวไหนๆ ในหน่วยงานของลูกจ้างก็ตาม ก็ไม่เห็นว่าลูกจ้างรายที่ฟ้องนี้มันจะทำงานให้ได้ดีไม่ได้ตรงไหนล่ะ หรือว่าทำงานแล้วจะเสียหายยังไง หรือไม่ได้ทำความผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างซักหน่อย หรือความจำเป็นในการเลิกจ้างของนายจ้างทำไมไม่เลิกจ้างทั้งหน่วยงานแต่คัดเอาที่หมายหัวให้ออกไปเพียง 2 คน (เพราะลูกจ้างที่มาฟ้องมี 2 คนที่ถูกไล่ออก) คือมีการชี้เป้า เล็งเป้าและยิงเป้าตามมานั่นแหล่ะ มันก็เลย Unfair ไงครับ เรียกว่า “ไร้เหตุผลอันควร ไม่เพียงพอจะเอาเป็นเอาตายไปเลิกจ้าง” ได้ว่างั้นเถอะ ภาษากฎหมายไปดูในคำพิพากษาศาลฎีกาเอาเองนะครับ

 

คดีทั้งสอง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่าผู้ค้านที่ 1 และที่ 2

ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่าผู้คัดค้านทั้งสอง เป็นลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างในกิจการของผู้ร้อง ซึ่งประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศนับแต่ปลายปี 2541 ราคาน้ำมันก๊าซและธรรมชาติตกต่ำลงทั่วโลกทั้งปริมาณการใช้ลดลงเนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ยอดจำหน่ายลดลงจากเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น ตลอดจนเหตุที่จะเกิดในอนาคตผู้ร้องจะต้องประสบปัญหาดังกล่าวไปอีกนาน และจะประสบปัญหาด้านการแข่งขันทางการตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2542 ถ้าผู้ร้องไม่ปรับปรุงการดำเนินงานทุกด้าน เพื่อรองรับสภาวการณ์ดังกล่าวแล้วผู้ร้องจะต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจอย่างรุนแรง

(อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ประเด็นนี้ คือ นายจ้างมองอนาคต แต่มันยังไม่เกิดไง คุณมโนก่อนไม่ได้ ศาลไม่ฟัง ศาลท่านอยู่กับปัจจุบัน แม้ในเชิงการบริหารจัดการเราจะต้อง Forecast ต้องมี Vision มองการณ์ไกล แม้ว่าพอถึงเวลามันก็เป็นไปตามที่เรามโนก็ช่างเถอะ แต่หากเป็นกฎหมาย กฎหมายคิดจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันครับ) ผู้ร้องจำต้องลดปริมาณงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนที่เกินความจำเป็นในการประกอบการ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นส่วนหนึ่งของการลดปริมาณงานและค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินความจำเป็นคือการลดบุคลากรลง ให้มีจำนวนเหมาะสมกับงานที่มีอยู่ (อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ก็ไม่ผิดนะ แต่ในทางปฏิบัติให้มันเป็นไปในทางเดียวกัน อย่าสวนทางก็แล้วกัน) ผู้ร้องได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หาจำนวนบุคลากรที่จำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินกิจการ ในภาวะปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการจัดสรรบุคลากรตลอดจนสิทธิประโยชน์อันพึงตอบแทนต่อพนักงาน ซึ่งอยู่ในข่ายต้องถูกปรับลดและสมัครใจลาออก  คณะกรรมการดังกล่าว ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปด้วยความเป็นธรรม จนสรุปได้ว่ามีพนักงานที่ปรับลดลงได้ 51 คนโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการของผู้ร้อง ทั้งในภาวะปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จึงได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวจนในที่สุดมีพนักงานสมัครใจออกจากงาน ตามโครงการไปแล้ว 49 คน 

(อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : โครงการสมัครใจลาออก เป็นเรื่องที่สมยอม 2 ฝ่าย นายจ้างตกลง ลูกจ้างตกลง กฎหมายไม่เรียกว่าลาออกและไม่เรียกว่าเลิกจ้างด้วย แต่เรียกว่า “สิ้นสุดสัญญาจ้าง” เหมาๆ รวมกันไปก็คือ การพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างนั่นเอง)  ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพนักงานซึ่งมีคุณสมบัติต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะต้องถูกปรับลด

(อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : การเอาผลการประเมินมาเล่นไม่ถูกที่ถูกเวลา (ไม่มีดูกาลเทศะ) มีการเพ่งเล็งเจ้า 2 คนนี้อยู่แล้ว อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทตั้งใจจะคัดออกไป แต่ลืมไปว่าเป็นเอ็งกำหนดให้เป็น “โครงการสมัครใจลาออก” แต่ไอ้นี่มันเผือกไม่สมัครใจจะออกไงล่ะครับ งานจึงเข้า)  ผู้ร้องจึงได้เสนอให้ลาออกโดยรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ตกลงยินยอมลาออกเนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องไม่อาจเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้โดยพลการ จึงร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง

(อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ถ้ามาปรึกษาอาจารย์จะไม่แนะนำแบบนี้เด็ดขาด มีทางออกเยอะแยะ แต่ใจเร็วด่วนจะเอาเค้าออกไงครับ จึงพลาดแพ้ไป)

ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องมีผลประกอบการดีขึ้นยอดขายสูงขึ้น และมีกำไรมาโดยตลอดทั้งราคาน้ำมันก็สูงขึ้นปริมาณงานไม่ได้ลดลงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง และผู้ร้องรับผู้รับเหมาเข้ามาทำงานมากขึ้นอีกด้วย ผู้ร้องต้องการลดพนักงานเพียง 51 คน แต่มีผู้สมัครใจลาออกถึง 49 คน ผู้ร้องชอบที่จะเลือกพนักงานที่ประสงค์จะลาออกก่อน ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรพนักงานอีก ผู้ร้องไม่เคยแจ้งหลักเกณฑ์ในการจัดสรรให้พนักงานทราบ ที่ผู้ร้องต้องการเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้คัดค้านทั้งสองตามระเบียข้อบังคับของผู้ร้อง เรื่อง นโยบายบริหารงานบุคคลพนักงานของผู้ร้องเกษียณอายุ 55 ปี มีสวัสดิการต่างๆโดยเฉพาะพนักงานที่ต้องออกไปทำงานในอ่าวไทย ต้องเสี่ยงอันตรายแก่ชีวิต ผู้คัดค้านทั้งสองทำงานในอ่าวไทยให้ผู้ร้องมาโดยตลอด จากเงินเดือนครั้งแรก 6,000 บาทเศษ มามีเงินเดือนสูง มีเวลาทำงานจนเกษียณอีก 13 ปี และ 15 ปี ตามลำดับถ้าถูกเลิกจ้างเมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไปหางานใหม่ ต้องรับอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ซึ่งจะได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 6,000 บาท และไม่เกิน 10,000 บาท ตามลำดับผู้คัดค้านทั้งสอง ต้องขาดรายได้จำนวนมาก ไม่สามารถหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : การจัดให้มี “โครงการสมัครใจลาออก” โดย

1.      จัดตั้งคณะกรรมการจัดสรรบุคลากรทำหน้าที่วิเคราะห์หาจำนวนฅนที่จำเป็นและเหมาะสมจะเอาไว้ในภาวะปัจจุบัน ซึ่งถือว่าทำถูกแล้ว สมควรทำครับ

2.      กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรฅน (ที่อยากให้มาสมัครใจลาออก) ตลอดจนกำหนดสิทธิประโยชน์ตอบแทนให้ลูกจ้าง ซึ่งอยู่ในข่ายต้องถูกปรับลดและสมัครใจลาออก  (ต้องให้เยอะพอที่จะจูงใจให้มาสมัครโครงการนี้)

แต่ทว่า พลาดครับ ดันไป…กำหนดระบบประเมินผลงาน เพื่อจะเล่นคัดออกอีกทางหนึ่งในเวลาเดียวกัน เฮ้อ ถ้าจะแพ้คัดออกโดยใช้ระบบประเมินผลงานมาคัดออก ต้องทำให้เนียนหน่อย ค่อยๆ ทำทีหลังก็ได้ มาปนๆ กับโครงการนี้ ใครมองก็รู้ว่า ไม่แฟร์ ถ้าอดใจไว้หน่อยก็จะดีแต่ต้องมีระบบการประเมินที่เป็นธรรม ตัดอารมณ์ ความรู้สึกมนุษย์เจ้านายประเภทตั้งธงจะเอาใครออกไว้ด้วยนะครับ แล้วตั้งสติประเมินตามเนื้อผ้าจริงๆ ให้โอกาสปรับปรุงหากผลงานไม่ดี ให้แก้ไขผลงาน ให้เวลาสัก 2-3 ครั้ง ดูแล้วยังไม่กระเตื้องขึ้น ผลงานห่วยคงเส้นคงวาเหมือนเดิม คืออยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ หรืออะไรก็เขียนให้ชัดเจน บอกกล่าวให้รู้ แบบฟอร์มที่ใช้ประเมินก็ต้องแฟร์ๆ พิสูจน์ว่าประเมินตรงไปตรงมาจริงๆ มีการอธิบายหัวข้อการประเมิน วิธีการประเมิน การให้คะแนน มี KPIs ชัดเจน บอกแต่เนิ่นให้รู้เนื้อรู้ตัวก่อน มีการให้ความเห็นระบุท้ายแต่ละหัวข้อประเมิน โอ๊ย ฯลฯ เยอะครับทำให้ดีๆ ไม่ใช่รวบยอดให้ความเห็น ทำนองข้าขี้เกียจเขียนพรรณนาเยอะๆ แบบนี้เจ๊งครับ ไปไม่รอด

นายจ้างรายนี้ แปลกๆ ในการคิด การบริหารจัดการครับ จะให้มี “โครงการสมัครใจลาออก” นายจ้างก็แค่ทำประกาศ บอกหลักเกณฑ์ วิธีการ และจะให้อะไรตอบแทนมาให้ครบ ส่วนใครจะสมัครไม่สมัครปล่อยไป สมัครมาน้อยไม่ได้ตามเป้าจะหาเรื่องเอาการประเมินผลงานมาบีบให้ออก แบบนี้สิ้นคิด อย่าทำ ส่วนไอ้ที่สมัครมาเยอะเกินโควต้าถ้าจะเอามาคัด มาอนุมัติให้ออก แบบนี้ทำได้ ทำไปเลยครับ เพราะที่สมัครใจนั่นคือตั้งใจลาออกจริงๆ ไม่ได้ถูกบังคับ แต่ไม่ใช่ว่าสมัครมาให้ออกหมดก็ไม่ถูก เพราะอาจมีคนดีๆ เก่งๆ และที่นายจ้างอยากได้มาสมัครปะปนกันไปด้วย คืออยากลาออกเพราะเงินที่ประกาศจะให้มันจูงใจและออกไปทำที่ไหนใครก็รับ อย่างนี้ คงยุ่งตายห่า

 

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อจำหน่าย ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องมีความจำเป็นต้องปรับลดโครงสร้างบุคลากรโดยเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน ที่ผ่านมาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการของผู้ร้องกำหนดขึ้น ผลการประเมินของคณะกรรมการจัดสรรบุคลากรปรากฎว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานและไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องกลั่นแกล้งหรือมีพฤติการณ์ส่อว่า ผู้ร้องมีเจตนาขัดขวางการดำเนินงานของผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะกรรมการลูกจ้าง แต่กลับจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่น้อยกว่าสิทธิและประโยชน์ตอบแทนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่จะจ่ายให้แก่พนักงานที่สมัครใจลาออกตามโครงการดังกล่าว ถือว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างได้อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง

 

อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : ศาลแรงงานกลางมองว่า เมื่อผลประเมินต่ำสุดๆ จะรออะไร นายจ้างไม่ได้แกล้งซักหน่อย ไม่ได้จะขัดขวางลูกจ้างในฐานะเป็นกรรมการลูกจ้าง แถมออกไปได้ตังค์ใช้ไม่น้อยด้วย ท่านเลยมองว่าแฟร์แล้ว แต่ศาลแรงงานกลางท่านไม่มองเชิงลึกลงไปว่า

1.      วิธีการลดจำนวนลูกจ้าง แม้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินไว้ก็ตาม แต่ต้องดูความเป็นจริงด้วย นี่ประเมินว่าลูกจ้างแย่ การได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานไม่ได้สะท้อนว่าลูกจ้างจะไม่สามารถทำงานให้ดีได้

2.      ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเลิกจ้างอื่นๆ ประกอบเลย เช่น ทำงานให้เกิดความเสียหายกับนายจ้าง หรือทำผิดวินัยในการทำงาน  

3.      ความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างเฉพาะเพียง 2 คนเท่านั้น “อ่อน” เกินไป ไม่ถูกมองว่าเป็นเหตุอันสมควร และมันยังไม่เพียงพอถึงขนาดจะไปไล่ออก

 

ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ ผู้คัดค้านทั้งสองว่าสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองหรือไม่เห็นว่าผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีแหล่งผลิตถึง 14 แห่ง ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก แม้ในปี 2541 ปริมาณการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะลดลงบ้าง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่การดำเนินกิจการของผู้ร้องยังมีกำไรตลอดมาทั้งปริมาณงานและผลผลิตก็ไม่ได้ลดลง ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเกิดขึ้นและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้ผู้ร้องต้องผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงนั้นเป็นเพียงการคาดคะเนต่อเหตุการณ์ข้างหน้าเท่านั้น (อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : บอกแล้วไง อย่าเอาอนาคตข้างหน้าที่มองไม่เห็น ไม่รู้จะเกิดจริงไม่จริงมาตัดสินใจ มามโนไม่ได้) ซึ่งอาจจะไม่เกิดผลดังเช่นที่ผู้ร้องคาดคะเนก็ได้ และแม้การคาดคะเนดังกล่าวเป็นมูลเหตุให้ผู้ร้องต้องปรับโครงสร้างบุคลากร แต่การปรับโครงสร้างดังกล่าว ก็ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องต้องยุบหน่วยงานที่ผู้คัดค้านทั้งสองทำอยู่หรือหน่วยงานอื่นของผู้ร้อง ผู้ร้องกลับจ้างผู้รับเหมาให้ทำงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องได้จ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกหลายคน แม้การจ้างดังกล่าวมิได้ให้ทำงานในแผนกที่ผู้คัดค้านทั้งสองทำงานอยู่ แต่ย่อมจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ร้องเพิ่มขึ้น (อาจารย์กฤษฎ์วิเคราะห์ : แต่อ้างว่าจะลดค่าใช้จ่าย) ส่วนการปรับโครงสร้างบุคลากรโดยการลดจำนวนบุคลากรลงให้เหมาะสมกับงาน แม้เป็นอำนาจบริหารของนายจ้าง จนเป็นผลให้เลิกจ้างลูกจ้างได้ แต่ต้องเป็นการกระทำที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างและต้องเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย

การลดจำนวนลูกจ้าง แม้ผู้ร้องได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นพิจารณาแก่ลูกจ้างทุกคนก็ตาม แต่ผลการประเมินได้ระบุเพียงว่า ผลปฏิบัติงานของผู้คัดค้านทั้งสองได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานเท่านั้น โดยไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถทำงานได้ดี หรือทำงานให้ผู้ร้องเสียหายอย่างไรหรือผู้คัดค้านทั้งสองได้กระทำผิดประการใด หรือมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างในแผนกไฟฟ้าระดับ 5 และแผนกอุปกรณ์ของแหล่งผลิตเอราวัณเฉพาะผู้คัดค้านเพียง 2 คนเท่านั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอถึงขนาดที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 2 คน ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ผู้คัดค้านทั้งสองฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองสำนวน

 

(องค์คณะผู้พิพากษา: มงคล คุปต์กาญนากุล, วีรพจน์ เพียงพิทักษ์, พูนศักดิ์ จงกลนี)