คำพิพากษาศาลฎีกา คดีแรงงาน น่าสนใจ สำหรับเจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้าและฝ่ายบุคคล #๒
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๖๙/๒๕๕๘ จำเลยทั้งสามประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบสนามบินสุวรรณภูมิหลายครั้ง โดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าจ้าง) ทำให้จำเลยทั้งสามจัดทำแผนงานทางวิศวกรรมที่ต้องส่งให้ผู้รับเหมาหลักไม่ทัน จำเป็นต้องเพิ่มวิศวกรและนักเขียนแบบเพื่อเร่งงานให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโปรแกรมลดทอนค่าใช้จ่าย แม้จะไม่มีรายละเอียดและขั้นตอนหรือหลักเกณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้บริหารของจำเลยทั้งสามก็ได้ประชุมถึงปัญหาและการคาดการณ์ที่จะไม่มีกำไรในอนาคต จึงให้มีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่าย แม้ขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามขาดทุนก็ตาม แต่ก็แสดงอย่างชัดแจ้งว่าในปีถัดจากนั้นจำเลยทั้งสามขาดทุนจริงติดต่อกันหลายปี ต้องระดมเงินทุนเพิ่ม และการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่ไม่จำเป็น ปรากฏว่าตำแหน่งของโจทก์อยู่ในแผนภูมิองค์กรและบุคคลในระนาบเดียวกับโจทก์นั้น มีโจทก์คนเดียวที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ แต่ไปจ้างวิศวกรและนักเขียนแบบที่ขาดแคลนและเป็นปัญหาอยู่ขณะนั้นเพิ่ม เป็นทางแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของจำเลยทั้งสาม เนื่องจากจำเลยทั้งสามเห็นว่างานหลักของโจทก์ที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุในสัญญาสำคัญน้อยกว่างานด้านวิศวกรที่กำลังเป็นปัญหาสาเหตุหักที่ทำให้จำเลยทั้งสามขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งเลิกจ้างลูกจ้างอื่นคือนายแพทริกซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเทคนิคและนายซีฮาวซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานทางเทคนิค มิใช่โจทก์ถูกเลิกจ้างเพียงคนเดียว ไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามกลั่นแกล้งโจทก์ เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสามทำสัญญาให้จำเลยทั้งสามมีสิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนกำหนด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมีตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมกันทักษะฝีมือความสามารถของโจทก์ ซึ่งในขณะนั้นจำเลยทั้งสามต้องการวิศวกรและนักเขียนแบบ แต่โจทก์ไม่มีความความสามารถในด้านดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสามใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเลิกจ้างโจทก์ จึงถือว่ามีสาเหตุจำเป็นอันสมควรและเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๗๓/๒๕๕๘ การจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้นนอกจากจะเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานแก่นายจ้างแล้วยังเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจอยู่ปฏิบัติงานกับนายจ้างในระยะยาวด้วย เมื่อพิจารณาประกาศของนายจ้างที่ระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่านั้น โดยในประกาศยังระบุว่าบริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้เป็นระยะเวลารวม ๖ งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยจะจ่ายพร้อมเงินเดือนในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีนาคม ๒๕๕๑ เมษายน ๒๕๕๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และมิถุนายน ๒๕๕๑ จากประกาศดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้น พนักงานดังกล่าวจะต้องมีฐานะเป็นพนักงานอยู่ในวันครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดการจ่ายเดือนมกราคม ๒๕๕๑ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์
=====
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๑๕/๒๕๒๕ การที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องด้วยความสมัครใจ เหลือจำนวนผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบร้อยละ ๑๕ ของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานนั้นจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย
=====
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๗-๒๖๐๘/๒๕๒๗, ๓๒๔๑/๒๕๒๗, ๓๙๙๘/๒๕๒๘ ข้อเรียกร้องของลูกจ้างมีลายมือชื่อลูกจ้างไม่ครบร้อยละ ๑๕ ตามมาตรา ๑๓ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่มีผลและตกไป แม้ต่อมาตัวแทนลูกจ้างได้ยื่นรายชื่อและลายมือชื่อผู้เรียกร้องเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อรวมกับรายชื่อเดิมที่ยื่นไว้ทำให้ครบจำนวนตามกฎหมายก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับถูกต้องตามกฎหมายได้
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๘๘/๒๕๕๘ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) บัญญัติไว้ชัดเจนในวรรคหนึ่งว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน... ” หาได้บัญญัติเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ไม่ จึงเป็นบทกฎหมายที่ใช้พิจารณาเรื่องค่าชดเชยเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่จะใช้พิจารณาเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้การกระทำของโจทก์ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง แต่ถือได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยในฐานะนายจ้างจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีระเบียบข้อบังคีบเกี่ยวกับการทำงานในหมวดที่ ๖ กำหนดเรื่องวินัยและโทษทางวินัย โดยแยกกำหนดวินัยในข้อ ก จำนวน ๓๐ ข้อย่อย และกำหนดโทษทางวินัยในข้อ ข ซึ่งมีโทษ ข้อย่อย คือตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร พักงานเพื่อการลงโทษโดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน ๗ วัน และให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก และกำหนดไว้ในวรรคท้ายว่าจำเลยสงวนสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างตามสมควรแห่งความผิดที่ได้กระทำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับข้างต้นแต่อย่างใด ดังนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อใดที่กำหนดว่าจะลงโทษไล่ลูกจ้างออกจากงานหรือเลิกจ้างได้ต้องเป็นกรณีลูกจ้างกระทำผิดวินัยมีโทษที่ร้ายแรงเท่านั้น ทั้งการที่โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แม้เป็นกรณีไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่โจทก์มีคำสั่งระงับการขายสินค้าหุ่นขี้ผึ้งมือกากเพชรโดยไม่มีอำนาจซึ่งทำให้จำเลยเสียหายย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙