คำพิพากษาศาลฎีกา คดีแรงงาน น่าสนใจ สำหรับเจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้าและฝ่ายบุคคล #๑

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๒๘๔ -๔๒๘๖/๒๕๕๘   การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับกองทุน ข้อ ๑๐.๗ (๓) ให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนเต็มจำนวนนั้น เป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตามที่ปรากฏในข้อบังคับ จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๘) ที่แก้ไขใหม่ แม้มาตรา ๕ ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่ากองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลุกจ้างลาออกจากกองทุนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนก็ตามแต่การจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ ที่แก้ไขใหม่ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ดังนั้น ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสะสม ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบจากกองทุนหรือไม่อย่างไร จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ผู้จัดการกองทุนของจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับคือไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงาน
=====
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๙๓๙/๒๕๕๘   ในกรณีที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้เป็นนายจ้างย่อมทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้วโดยต้องจ่ายภายใน ๓ วันนับแต่วันเลิกจ้าง ตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้ลูกจ้างไม่ทวงถาม นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่าย เมื่อถึงกำหนดนายจ้างไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
=====
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๓๖๖/๒๕๕๘  โจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทฯได้โดยลำพัง ไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ชายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ  แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณหรือให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัทฯ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทฯจึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๓ ได้
=====
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๓๘๕ – ๙๓๙๓/๒๕๕๘   ค่ารถยนต์และค่าน้ำมันนายจ้างมิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคน  แม้จะจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวนคงที่แน่นอนทุกเดือน แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการในด้านคมนาคมแก่ลูกจ้างให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และให้มีความเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งระดับสูง หาได้มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงแต่อย่างใด ค่ารถยนต์และค่าน้ำมันดังกล่าวย่อมมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ จึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
=====
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๗๗๓/๒๕๕๘   หลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างกรณีพ้นสภาพเพราะลาออกด้วยแตกต่างกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่เฉพาะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น ทั้งได้กำหนดเงื่อนไขไว้แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าชดเชย วิธีการคำนวณเงินบำเหน็จก็แตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเงินบำเหน็จที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินประเภทอื่นที่มิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงานของจำเลยจะกำหนดว่า  “ให้ถือว่าเงินบำเหน็จนี้เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย”  ก็ไม่มีผลให้เงินบำเหน็จกลับกลายสถานะเป็นค่าชดเชยไปได้
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา  ๑๑๙ (๔)
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๘๗๓/๒๕๕๘   การเตือนเป็นหนังสือนั้นจะต้องประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ลูกจ้างกระทำผิด รายละเอียดเกี่ยวกับการที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพียงพอที่จะทำให้ลูกจ้างทราบถึงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของตน และการเตือนว่าหากลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือนจะถูกลงโทษทางวินัย หรือดำเนินการอย่างใด คดีนี้แม้นายจ้างจะเตือนด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ ก็ถือเป็นการเตือนเป็นหนังสือได้ เมื่อจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาว่าผลงานของลูกจ้างต่ำกว่าเป้าหมาย ไม่ส่งรายงานการขาย โดยอ้างข้อบังคับของนายจ้างข้อ ๓๔ (๑๐) ไร้ความสามารถหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และระบุว่าหากไม่ปรับปรุงจะใช้มาตรการทางวินัยที่จำเป็น ถ้อยคำในการเตือนดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
=====
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา  ๔๙
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๐๒๖๕-๑๐๒๗๔/๒๕๕๘   เมื่อจำเลยมีผลการประกอบการที่มีกำไรมาโดยตลอด ทั้งในปีที่เลิกจ้าง จำเลยก็ยังมีกำไรมากกว่า ๒๐ ล้านบาทซึ่งนับว่ามีจำนวนพอสมควรทั้งที่สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้นไม่ดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยในปีต่อ ๆ ไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อได้ความเพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อพยุงฐานะของจำเลย ทั้งที่ผลประกอบการของจำเลยยังมีกำไร จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
=====
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๒๒๙๒/๒๕๕๘   ค่าบริการเป็นเงินที่โจทก์ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๑๐ ของราคาขายห้องพัก อาหารและค่าใช้บริการอื่น ๆ แล้วนำมาจัดสรรเป็น ๒ ส่วนแรกร้อยละ ๗๕ แบ่งให้ลูกจ้างทุกคนคำนวณจ่ายให้ตามวันที่มาทำงานจริง โดยเงินที่จัดสรรแต่ละเดือนจะไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือจัดสรรไว้ในบัญชีกองทุนเซอร์วิสชาร์จสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งจ่ายให้กรณีที่ค่าบริการต่ำกว่าเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทด้วย   คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรเงินค่าบริการในแต่ละเดือน ค่าบริการจึงเป็นเงินที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างให้บริการลูกค้าด้วยดี  ค่าบริการจึงมิใช่เงินของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แต่โจทก์ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินดังกล่าวแทนลูกจ้างโจทก์และมีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการมาจัดสรรโจทก์ไม่เคยจ่ายเงินของโจทก์เป็นค่าบริการแก่ลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ อันจะต้องนำมาเป็นฐานการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา ๔๖ และ ๔๗
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๒)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๒๓๕๔/๒๕๕๘   การที่โจทก์มีหน้าที่รับพัสดุและไปรษณีย์ที่ส่งมายังที่ทำการของจำเลยและคัดแยกส่งให้จำเลยและพนักงานของจำเลย แต่โจทก์กลับปฏิบัติผิดหน้าที่โดยเก็บหมายแจ้งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งให้แก่จำเลยก็เพื่อมิให้จำเลยหักเงินเดือนโจทก์ส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามกฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์เอง การกระทำของโจทก์โดยทั่วไปย่อมรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดแก่นายจ้างได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เจ้าพนักงานตามกฎหมายย่อมมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่นายจ้างได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย เพราะจำเลยมิได้ปฏิบัติตามหมายแจ้งอายัด แม้ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมิได้ยึดทรัพย์ของจำเลยก็เพราะโจทก์นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน ก็ต้องถือว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๒)  และเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๒๔๒๙/๒๕๕๘   ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่นายจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่ลูกจ้างไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง ๑๓ แห่งเมื่อลูกจ้างลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่นายจ้างเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา  ๙, ๑๐
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๒๖๒๐/๒๕๕๘   การที่นายจ้างรับเงินหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างไว้ ๓,๐๐๐ บาท และต่อมาลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักเงินประกันการทำงานของลูกจ้าง ๑,๖๐๐ บาท นำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการยินยอมให้นายจ้างมีสิทธิไม่ต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่ลูกจ้างทั้งที่ไม่ใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงนี้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักเงินหลักประกันดังกล่าวของลูกจ้างไว้  เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง  นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินหลักประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายใน ๗ วัน นับแต่วันเลิกจ้าง แต่นายจ้างไม่ดำเนินการจึงผิดนัดชำระหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา  ๑๖
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๙๓๙/๒๕๕๘  เมื่อปี ­๒๕๓๘ โจทก์เสนอขายอาคารพาณิชย์ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งสองฝ่ายนัดไปเจรจากันที่โรงแรมม่านรูด ในที่สุดจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธไม่ซื้อ แต่เสนอขอจะใช้หนี้แทนโจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์มีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ เป็นข้อแลกเปลี่ยน โจทก์สมัครใจยอมร่วมเพศกับจำเลยที่ ๒ เป็นครั้งแรก โดยจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์  ๑๐๐,๐๐๐ บาท และบุคคลทั้งสองยังคงมีเพศสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจกันมาอีกหลายครั้ง เกือบทุกครั้งจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์ จนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ โจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ได้มีเพศสัมพันธ์กันต่อมาโดยจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เกือบทุกครั้งเหมือนเดิมจนกระทั่งโจทก์ยื่นใบลาออกจากงานในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ หลังจากนั้นโจทก์ยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ อีกเป็นครั้งสุดท้าย โดยครั้งนี้จำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็ค ๑๑ ฉบับ เป็นเงิน ๓.๐๐๐.๐๐๐ บาท มอบให้โจทก์ จะเห็นว่าการที่โจทก์มีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ เป็นไปโดยความสมัครใจเป็นการส่วนตัว ทั้งที่โจทก์มีสามีและบุตรแล้วเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่จำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คเพื่อช่วยชำระหนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจบังคับบัญชาบีบบังตับโจทก์ในหน้าที่การงานให้ต้องจำยอมมีเพศสัมพันธ์แต่ประการใด การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงหาใช่เป็นการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖ ไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้อง
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑  มาตรา  ๑๗
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๖
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๑๔๕/๒๕๕๘    แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๖ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ ลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้าง และเมื่อแสดงเจตนาดังกล่าวแล้วไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้ก็ตาม  แต่กรณีดังกล่าวหมายถึงลูกจ้างแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวขอถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อยกเลิกหรือถอนการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกจ้างขอลาออกโดยให้มีผล ๓๐ วันข้างหน้า ต่อมานายจ้างและลูกจ้างปรับความเข้าใจกันได้แล้ว และทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกและยินยอมให้ถอนการแสดงเจตนาลาออกของลูกจ้าง กรณีจึงทำให้การลาออกของลูกจ้างถูกถอนไปแล้ว กรณีเช่นนี้หาขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่
=====
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓, ๑๖, ๒๑
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๒๕/๒๕๕๘ หากโจทก์(นายจ้าง) เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องของจำเลย(สหภาพแรงงาน)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลย และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นโจทก์กับจำเลยก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นตามลำดับขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้อง เจรจาและไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
=====
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๕
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๙๒๖/๒๕๕๘   การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง โดยจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างจะต้องมีอยู่ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด  หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่ การที่ลูกจ้างระดับบังคับบัญชาลาออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา  คงเหลือจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาที่เป็นสมาชิกของโจทก์ไม่ถึงหนึ่งในห้าตามกฎหมายก่อนที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และนายจ้างเสร็จสิ้นนั้น ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่สมาชิกของโจทก์ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ต้องถือเอาจำนวนสมาชิกขณะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาข้อพิพาทแรงงานเป็นสำคัญ
=====
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ วรรคสาม, ๓๔
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๓๔๗/๒๕๕๘  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ วรรคสาม  บัญญัติว่า  “ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง  ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด  ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น... ”  แม้ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘  จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น  แต่เมื่อภายหลังจากที่ฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีเจรจากันตามกฎหมายแต่ไม่สามารถตกลงกันได้  จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย  แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น  ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม  การที่ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น  จึงถือว่าผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘  เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว  การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ  ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘  ไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้  เมื่อผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้  ในระหว่างที่ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘  ร่วมนัดหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย  ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง 
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๖๘๘/๒๕๕๘  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) บัญญัติไว้ชัดเจนในวรรคหนึ่งว่า  “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว  เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง  นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน... ”  หาได้บัญญัติเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ไม่  จึงเป็นบทกฎหมายที่ใช้พิจารณาเรื่องค่าชดเชยเท่านั้น  ไม่ใช่ข้อที่จะใช้พิจารณาเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  แม้การกระทำของโจทก์ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง  แต่ถือได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  จำเลยในฐานะนายจ้างจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า  โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  จำเลยมีระเบียบข้อบังคีบเกี่ยวกับการทำงานในหมวดที่ ๖  กำหนดเรื่องวินัยและโทษทางวินัย  โดยแยกกำหนดวินัยในข้อ ก จำนวน ๓๐ ข้อย่อย และกำหนดโทษทางวินัยในข้อ ข  ซึ่งมีโทษ  ข้อย่อย  คือตักเตือนด้วยวาจา  ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร  พักงานเพื่อการลงโทษโดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน ๗ วัน  และให้ออก  ปลดออก  หรือไล่ออก  และกำหนดไว้ในวรรคท้ายว่าจำเลยสงวนสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างตามสมควรแห่งความผิดที่ได้กระทำ  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับข้างต้นแต่อย่างใด  ดังนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อใดที่กำหนดว่าจะลงโทษไล่ลูกจ้างออกจากงานหรือเลิกจ้างได้ต้องเป็นกรณีลูกจ้างกระทำผิดวินัยมีโทษที่ร้ายแรงเท่านั้น  ทั้งการที่โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  แม้เป็นกรณีไม่ร้ายแรงก็ตาม  แต่การที่โจทก์มีคำสั่งระงับการขายสินค้าหุ่นขี้ผึ้งมือกากเพชรโดยไม่มีอำนาจซึ่งทำให้จำเลยเสียหายย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป  ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้  กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐, ๔๒๐, ๕๗๕
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๔๑๕๕/๒๕๕๘  การที่จำเลยในฐานะนายจ้างปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบ ดูแล บำรุงรักษารถให้บริการเสิร์ฟอาหารให้ดีพอจนเป็นเหตุให้เบรกเสียใช้การไม่ได้แล้วไหลมาชนกระแทกโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น นอกจากเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแล้ว ยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๑๙๓/๓๐
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑, ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๔๒๗๖/๒๕๕๘  เดิมโจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลา ๒ ปี แต่เมื่อครบกำหนดการจ้างแล้ว จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ทันทียังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป  ทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้  จึงต้องถือว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาจ้างเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑ กลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ นอกจากนี้  ตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขว่า  หากครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี และโจทก์ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานแล้ว  จำเลยจะจ้างโจทก์ต่อไปอีกคราวละไม่เกิน ๒ ปี  เมื่อจำเลยแจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาฉบับใหม่ซึ่งต่ออายุสัญญาจ้างออกไปไม่ถึง ๖ เดือน  โจทก์ยอมลงนาม  ต่อมาจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างอีกฉบับหนึ่ง  ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มเงื่อนไขให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์จากเดิม ๑ ครั้ง  เมื่อครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี เป็น ๓ ครั้ง  เมื่อครบกำหนด ๑ ปี, ๑ ปี ๖ เดือน และ ๒ ปี  ตามลำดับ  หากผลการประเมินครั้งใดไม่ผ่านเกณฑ์ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างก่อนครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี  ได้ก็ตาม  แต่ก็มีการต่ออายุสัญญาจ้างออกไป ๒ ปี  และกำหนดเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากสัญญาจ้างฉบับแรกให้เท่ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายของโจทก์  สัญญาจ้างฉบับต่อมาจึงเป็นคุณแก่โจทก์และไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ  โจทก์ยังคงไม่ยอมลงนามโดยทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ยอมลงนามทั้งที่ตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยกำหนดให้การจ้างลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและจ้างเป็นคราว ๆ  คราวละ ๒ ถึง ๔ ปี  หากครบกำหนดการจ้างดังกล่าวแล้วคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีอำนาจขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งผู้จัดการได้อีกคราวละไม่เกิน ๒ ปี  มีผลทำให้การจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวด้วย  การที่โจทก์ไม่ยอมลงนามผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่  ทั้งที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นถึงผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลย  แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยให้ถูกต้อง  จึงเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้  ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
=====
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕   
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๔๒๗๗/๒๕๕๘  ค่าเช่าบ้านเดือนละ ๒๕๐๐ บาท นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีวิตและลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง จึงมีลักษณะเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย  สำหรับค่าอาหารเดือนละ ๔๔๐ บาท มีหลักเกณฑ์การจ่ายว่าลูกจ้างต้องทำงานไม่ต่ำกว่าวันละ ๔ ชั่วโมงและใน ๑  เดือนมาทำงานไม่ต่ำกว่า ๒๐ วัน โดยจ่ายเป็นคูปองไปซื้ออาหารในโรงอาหาร ไม่จ่ายเป็นเงินสด  ส่วนค่าสวัสดิการช่วยเหลือการเดินทางเดือนละ ๖,๕๓๔ บาท ใช้วิธีจ่ายเป็นค่าน้ำมันรถตามเขตการทำงาน และจะได้รับไม่แน่นอนทุกเดือนขึ้นอยู่กับว่ามาทำงานเป็นจำนวนกี่วัน มีลักษณะเป็นสวัสดิการ  เงินทั้งสามประเภทดังกล่าวมิได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
=====