แบบนี้ถือว่าเป็น...
การกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่

••03.04.2562

┏━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━┓
กรณีไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ถ้า...ทำผิดร้ายแรง
•••✵ขาดงาน 3 วัน ปิดเครื่องจักร หาเรื่องทำร้ายร่างกายเพื่อนฯ
ถือว่าผิดอาญา  ไม่ยำเกรงเสียการปกครอง แตกสามัคคี ผิดศีลธรรม
 
ศาลฎีกาท่านว่าเป็นกรณีร้ายแรง
┗━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━┛
 
►LINE@ : https://goo.gl/LpxiYk 
►f Messenger :  http://m.me/AJK.sciArtist/
 
 
 
✺วันนี้ตามที่ได้ไปให้คำปรึกษา (ขณะเขียน 02.04.2562) เป็นกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานที่ 10565/2559 พอดี และเช่นเคยครับ อาจารย์ขอแยกแยะอธิบายวิเคราะห์ ดังนี้
(1) ✎ผู้ที่ฟ้องคดีนี้ (โจทก์) เป็นลูกจ้าง และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซะด้วย ถูกข้อหาละทิ้งหน้าที่  ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงาน   ให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจซึ่งนายจ้างมองว่าเป็นกรณีร้ายแรง   จึงเลิกจ้างลูกจ้างรายนี้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเรื่องของเรื่องตัวลูกจ้างเองใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่านายจ้างเลิกจ้างเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 เรื่อง "การกระทำอันไม่เป็นธรรม" (ฅนละเรื่องกับ "การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม" ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522  มาตรา 49 นะ)
 
(2) คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณา และวินิจฉัยว่า  การที่นายจ้างไปเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของลูกจ้างซะ แต่ทว่าไม่ยอมครับ ลูกจ้างเห็นว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   จึงได้นำไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง  ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาว่า...   
2.1 การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างเป็นกรณีขณะเกิดเหตุ ลูกจ้างได้หยุดพักเครื่องจักร  โดยไม่ได้ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย  จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรง  และ
2.2 เพื่อนร่วมงานซึ่งได้รับอันตรายจากการที่ลูกจ้างรายนี้ไปชกต่อย ก็ไม่ถึงขั้นบาดเจ็บร้ายแรง  
2.3 เหตุที่เกิดก็เพียงชั่วครู่ จิ๊บจ๊อย อย่าคิดเยอะว่างั้นเถอะ 
2.4 ภายหลังเกิดเหตุตัวลูกจ้างเองก็ยังกลับไปทำงานต่อ  
 
(3) ศาลแรงงานกลาง เห็นว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับในกรณีร้ายแรง   การที่นายจ้างไปเลิกจ้างลูกจ้างจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123  เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม   เห็นสมควรให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง และพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ 
แน่นอนครับว่านายจ้างไม่ยอม ก็เลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา   
     
(4) ศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานเห็นว่า...  
4.1 การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างโดยการปิดเครื่องจักรแล้วไปก่อเหตุหาเรื่องชกต่อย ทำให้เพื่อนร่วมงานได้รับบาดเจ็บ   และผู้ร่วมงานมิได้ตอบโต้  อันเป็นการกระทำความผิดอาญาข้อหาทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  
4.2 พฤติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นการให้เกิดความเสียหายแก่การปกครอง แตกแยกสามัคคี ผิดศีลธรรมอันดี  ทำให้จำเลยเสียหายเป็นกรณีร้ายแรง  
4.3 การที่นายจ้างออกระเบียบข้อบังคับฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและดูแลบริหารจัดการพนักงานจำนวนมากให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข    และเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ย่อมแสดงให้เห็นว่า นายจ้างเองไม่ประสงค์ให้พนักงานทุกระดับกระทำการดังกล่าว และถือเป็นกรณีร้ายแรง    
4.4 การที่ตัวลูกจ้างได้เก็บความไม่พอใจไว้แล้วละทิ้งงานถึง 3 วัน  (แม้ไม่ใช่ 3 วันทำงานติดต่อกันฯ อันจะเลิกจ้างได้เลยก็ตาม) และเข้าทำร้ายเพื่อนร่วมงาน โดยไม่สนใจต่อกฎระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ไม่มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา  จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรง  การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม   พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องครับ 
 
✺ชนะในศาลแรงงานกลางอันเป็นศาลชั้นต้น แต่มาตกม้าตายแพ้ในศาลฎีกา คดีท้าทายอำนาจการปกครองบังคับบัญชาสั่งการนี่ ศาลฎีกาถือเป็นบรรทัดฐานมานมนานแล้วว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงถึงไล่ออกไม่จ่ายทั้งค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (พคร.มาตรา 17 วรรคท้าย) และค่าชดเชย (พคร.มาตรา 119)
 
✎ข้อกฎหมายจากคำพิพากษาศาลฯ และเพิ่มเติมจากอาจารย์กฤษฎ์ในการวิเคราะห์ :
⚖️ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) (4) กรณีคดีนี้ร้ายแรงครับ (อาจารย์ขอยกมาทั้งมาตรา)
▫️(วรรค 1) : "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก
ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย"
▪️(วรรค 2) : "การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอัน เป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้"2
 
⚖️ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2468 มาตรา 583
▫️ "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือ ละเลยไม่นําพาต่อคําสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทําความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือ ทําประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้"
 
⚖️ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 295
▪️ "ผู้ใดทําร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ" [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560]
 
⚖️ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  มาตรา 123 (3)  (อาจารย์ขอยกมาทั้งมาตรา)
▫️ "ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคําชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับ ระเบียบหรือคําสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดําเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง หรือ
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทํางานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5) กระทําการใด ๆ เป็นการยุยง สนับสนุน หรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคําชี้ขาด"
 
⚖️ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2477 มาตรา 57 (3)  (อาจารย์ขอยกมาทั้งมาตรา)
▪️(วรรค 1) :  "บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นโดยยื่นคําร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย
(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคําขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทําเป็นคําร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดีหรือ (ข) โดยคําสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคําขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดีหรือศาลเห็นจําเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าว แล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคําร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคําฟ้องหรือคําให้การ หรือในเวลาใด ๆ ต่อมาก่อนมีคําพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคําร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้"
▫️(วรรค 2) :  "การส่งหมายเรียกบุคคลภายนอกตามอนุมาตรานี้ต้องมีสําเนาคําขอ หรือคําสั่งของศาล แล้วแต่กรณีและคําฟ้องตั้งต้นคดีนั้นแนบไปด้วย"
▪️(วรรค 3) :  "บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้และที่จะเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"
 
 
⚖️ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 33
▫️ "คําฟ้องคดีแรงงานให้เสนอต่อศาลแรงงานที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแรงงานนั้น ถ้าโจทก์มีความประสงค์จะยื่นคําฟ้องต่อศาลแรงงานที่โจทก์หรือจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลแรงงาน เมื่อโจทก์แสดงให้ศาลแรงงานเห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลแรงงานนั้น ๆ จะเป็นการสะดวก ศาลแรงงานจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นคําฟ้องตามที่ขอนั้นก็ได้ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าสถานที่ที่ลูกจ้างทํางานเป็นที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น ไม่ว่าการดําเนินกระบวนพิจารณาจะได้ดําเนินไปแล้วเพียงใด ก่อนศาลแรงงานมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีคู่ความอาจร้องขอต่อศาลแรงงานที่โจทก์ได้ยื่นคําฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลแรงงานอื่นที่มีเขตอํานาจได้แต่จะต้องยกเหตุผลและความจําเป็นขึ้นอ้างอิง เมื่อศาลแรงงานพิจารณาเห็นสมควรจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําขอนั้นก็ได้แต่ห้ามมิให้ศาลแรงงานออกคําสั่งเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลแรงงานที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลแรงงานที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอมก็ให้ศาลแรงงานที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษชี้ขาด คําชี้ขาดของประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษให้เป็นที่สุด"
 
♾∞♾∞♾∞♾∞♾∞
อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ 
นักวิทย์ศิลป์ 
ผู้เชี่ยวชาญ HRM HRD OD Strategic Management TQM ISO 
ผู้นำแห่งกฎหมายแรงงานแบบบูรณาการ อันดับหนึ่งในประเทศไทย
ผู้ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน เชี่ยวชาญการบริหาร เข้าใจนายจ้างลูกจ้าง
| http://AJK.bloggang.com
 
“ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เป็นธรรม ย้ำหลักสุจริต ไม่คิดเอาเปรียบ”
✺Credit : อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์
Ref. : www.KRISZD.com
Credit : ꍏj.Kяιꌗz∂ ꀎ-✞ɧąıཞaṭⒸ
อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ นักวิทย์ศิลป์ Sc̫ίArϯίṧt
 
ωωω.ƘRISZD.ꉓom 
‪KDV@KRISZD.com‬ 
 
#สำนักงานอาจารย์กฤษฎ์ #อาจารย์กฤษฎ์ #AJK #AjKriszd #SciArtist #อาจารย์กฤษฎ์อุทัยรัตน์ #นักวิทย์ศิลป์ #กฎหมายแรงงานในประเทศไทย #ที่ปรึกษากฎหมายแรงงานอันดับหนึ่ง #ผ่าประเด็นบริหารฅน #LabourProtection #LabourRelation #คดีแรงงาน #ไม่เคยแพ้คดีแรงงาน #สัญญาจ้างแรงงาน #อันดับ1คดีแรงงาน #ระเบียบข้อบังคับและแนวปฏิบัติ #คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ #คำพิพากษาศาลฎีกา #แผนกคดีแรงงาน #การกระทำอันไม่เป็นธรรม #กระทำผิดวินัยร้ายแรง #ปิดเครื่องจักร #หาเรื่องทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงาน #ผิดอาญา  #ไม่ยำเกรงเสียการปกครอง #แตกสามัคคี #ผิดศีลธรรม 
 
Cr. | อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ “ผ่าประเด็น บริหาร “ฅน” ชี้ถูกผิด “กฎหมายแรงงาน”
.